จุฬาราชมนตรีขอให้ สตช. ยุติการเก็บข้อมูล นศ. มุสลิม

มารียัม อัฮหมัด
2019.09.24
ปัตตานี
190924-TH-sheikhul-islam-800.jpg นายสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี (ขวาสุด) และ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี (คนที่สองจากซ้ายมือ) มอบหนังสือจากจุฬาราชมนตรีให้กับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 24 กันยายน 2562
ภาพ สำนักจุฬาราชมนตรี

ในวันอังคารนี้ จุฬาราชมนตรีได้ให้ตัวแทนส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้สั่งการให้ตำรวจสันติบาล ยุติการขอเก็บข้อมูลของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีนักศึกษาอิสลามศึกษาอยู่ โดยระบุเหตุผลว่า การเลือกปฎิบัติดังกล่าว จะยิ่งทำให้พลเมืองในชาติมีความเกลียดชัง และแตกแยกกันมากขึ้น รวมทั้ง อาจจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้มีความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้นได้

เมื่อเวลา 10.00 น. นายสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี และนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงกรณีที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ทางตำรวจสันติบาลได้มีหนังสือขอให้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง สำรวจรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม ชมรมที่นักศึกษาสังกัด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่นักศึกษาเข้าร่วม โดยมีผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับหนังสือดังกล่าว

ข้อความในหนังสือส่วนหนึ่งระบุว่า จุฬาราชมนตรี มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินการดังกล่าว เพราะ “ย่อมถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองมุสลิมในประเทศไทย ดำเนินการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ที่ถือว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติดังกล่าว นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นแล้ว ยังอาจซ้ำเติมให้สังคมเกิดความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย”

“ในการนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีจึงใคร่ขอความกรุณามายังท่าน โปรดพิจารณาสั่งการให้ตำรวจสันติบาลยุติการดำเนินการใดๆ ที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งต่อมุสลิมและกลุ่มคนบางกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างแท้จริงของชาติสืบไป” หนังสือของจุฬาราชมนตรี ระบุ

หนังสือของจุฬาราชมนตรีได้ชี้แจงให้เห็น โดยมีเหตุผลสามประการว่า หนึ่ง ความมั่นคงทางสังคมต้องอาศัยความสมานฉันท์ของกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อรัฐเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่ม ก็อาจกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังระหว่างกันของคนในชาติได้

สอง รัฐมีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันและความเสมอภาค ภายใต้การปกครองของรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิดในหมู่ประชาชนได้ แต่การเลือกปฏิบัติจะทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อกันและกัน และอาจจะนำไปสู่ความพยายามที่จะแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น

และสาม ในหมู่มุสลิมอาจมีคนบางกลุ่มที่มีความคิดอ่านรุนแรงตกขอบอยู่จริง แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องไม่ใช้การเลือกปฏิบัติ... ในขณะที่ความคิดสุดโต่งมีอยู่ในทุกศาสนิก แต่รัฐกลับเลือกที่จะกดดันแต่กลุ่มมุสลิมเท่านั้น ความรู้สึกเช่นนี้ หากเกิดในหมู่ประชาชน ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติแน่นอน

ในเรื่องนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะขอตรวจสอบถึงเรื่องราวการยื่นหนังสือในชั้นต้นก่อน

“กรณีที่ตัวแทนจุฬาราชมนตรียื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ยุติการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษามุสลิมนั้น ทางตำรวจขออนุญาตตรวจสอบข้อมูลก่อน และจะมีการชี้แจงในโอกาสต่อไป” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยในก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวยอมรับว่า ได้มีการส่งหนังสือจากตำรวจสันติบาล ไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่งจริง

นางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งเป็นผู้เผผยแพร่จดหมายของตำรวจสันติบาลเมื่อสัปดห์ที่แล้ว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า จดหมายฉบับดังกล่าว ส่งถึงมหาวิทยาลัยรังสิต ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ภาคใต้นายหนึ่ง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสามสี่มหาวิทยาลัย ต่างได้รับหนังสือ เพื่อขอข้อมูลของนักศึกษาทั้งหมด ซึ่ง “เป็นไปเพื่อความมั่นคง ไม่ได้ต้องการที่จะไปละเมิดหรืออย่างอื่นเลย”

ด้าน ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ ได้ให้ความเห็นต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตำรวจสันติบาลควรจะดำเนินการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น

“ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีคนที่มีแนวคิดรุนแรง ซึ่งเราก็ยอมรับว่ามี ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องว่าไปเฉพาะส่วนของคนคนนั้น ไม่ใช่ว่าจะตรวจนักศึกษาทั้งหมดที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งความจริงแล้วแนวความคิดรุนแรงก็มีในทุกศาสนา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมาเลือกปฏิบัติเฉพาะกับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม” ดร.วิสุทธิ์ กล่าว

นายอิสมะแอ ดอเลาะ นักศึกษาชั้นปี 3 ของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุระเบิดหลายสิบจุดในกรุงเทพฯ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีทั้งนักศึกษา คนที่ขึ้นมาทำงาน ซึ่งมีจำนวนมาก ต่างรู้สึกไม่ปลอดภัย

“ทุกวันนี้ ผมและเพื่อนๆ เรียนเสร็จก็ไม่อยากออกไปไหน ยิ่งหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ยิ่งไม่กล้าออกไป เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่เต็มไปหมด เมื่อมีคนที่เขาสงสัย ก็จะจับไปสอบสวนโดยที่ไม่มีหมายจับ หากไม่มีอะไรหรือกล่าวหาข้อหาไม่ได้ก็จะปล่อยตัวกลับ” นายอิสมะแอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง