ประยุทธ์ - ธนาธร ชิงเก้าอี้นายกฯ พุธนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.06.04
กรุงเทพฯ
190604-TH-Politics-PrimeMinister-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มิถุนายน 2562
รอยเตอร์

ในช่วงค่ำวันอังคารนี้ พรรคพลังประชารัฐประกาศจับมือพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมพรรคร่วม แถลงร่วมรัฐบาล ซึ่งหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ตกลงใจเข้าร่วม ทำให้ พลังประชารัฐและพรรคร่วมมีที่นั่งเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล มีแนวโน้มสูงขึ้นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และทหารก็จะยังคงยึดที่มั่นอยู่ในการเมืองไทย

โดยในวันเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่ จับมือพรรคร่วมอุดมการณ์ต้านทหาร ประกาศส่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันพุธนี้ แม้ว่าจะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าที่ 246 ต่อ 254 เสียงก็ตาม

เมื่อตอนเที่ยงวันนี้ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป แถลงข่าวร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยยืนยันว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศร่วมรัฐบาลในตอนค่ำ

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พรรคพลังประชารัฐจะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มิใช่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

“เวลาเหลือไม่มาก วันนี้ ก็เลยเชิญทุกท่านมาพร้อมกัน ไม่ใช่การจะไปจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอะไรเช่นนั้น ไม่ใช่เจตนารมณ์ความตั้งใจเรายังเหมือนเดิม คือ มุ่งไปสู่การตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สามารถทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนได้” นายอุตตม กล่าว

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีตัวแทนพรรค คือ นายชวน หลีกภัย วัย 80 ปี เป็นประธานสภาไปเรียบร้อยแล้ว ได้แถลงในตอนค่ำว่า กรรมการบริหารพรรค มีมติ 61 ต่อ 16 ให้ร่วมรัฐบาล โดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งว่า เพื่อให้ประเทศชาติพ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลเร็ว เป็นเสมือนการยุติบทบาทของ คสช. โดยปริยาย

“เรามีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ก็ต้องทำตามมติกับพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐเสนอพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี” นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแก่สื่อมวลชน

ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาถึงรัฐสภา ในวันเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก ที่กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ค. 2562 ในกรุงเทพฯ วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562 (เอพี)
ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาถึงรัฐสภา ในวันเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก ที่กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ค. 2562 ในกรุงเทพฯ วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562 (เอพี)

เพื่อไทยนำเจ็ดพรรคส่งธนาธรชิงดำ “ผมพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี”

น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัวแทนพรรคต่างๆ แถลงต่อสื่อมวลชนในตอนบ่ายของวันนี้ว่า พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเคยลงสัตยาบัน เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในเดือนมีนาคม 2562 มีมติว่าจะเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้

“เรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของ 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. สรุปว่า ทั้ง 7 พรรค เสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้คุณธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราว แต่การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้พูดชัดเจนแล้วว่าการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

ต่อมาในตอนค่ำ นายธนาธร ได้แถลงข่าวว่า ตนเองพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และวุฒิสมาชิกอีก 250 คน หันมาสนับสนุนฝ่ายตน

“ผมพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี... เราเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศวันนี้ คือ การนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย และก้าวแรกที่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องหยุดยั้งอำนาจของ คสช. ต้องหยุดยั้งคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ให้กลับมาเป็นนายกฯ ในสมัยต่อไป" นายธนาธร กล่าวแก่สื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม นายธนาธร ยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย เนื่องจากว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการขอให้พิจารณาคุณสมบัตินายธนาธร จากกรณีถือหุ้นสื่อ พร้อมมีมติ 8:1 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที ทำให้เขาพลาดโอกาสการออกเสียงเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะหมดสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ซึ่งหากถูกตัดสินว่าผิดจริงก็จะหมดคุณสมบัติเป็นนักการเมือง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า โอกาสที่ฝ่ายพรรคต้านทหารจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกอย่าง 376 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงรวมของสองสภาที่มี 750 เสียง

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส. 136 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง เศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง เพื่อชาติ 5 ที่นั่ง และ พลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง ซึ่งได้ประกาศรวมตัวกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ก่อนหน้านั้น ปัจจุบัน มีเสียงรวมกันทั้งหมด 246 ที่นั่ง

ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ส. 116 ที่นั่ง เมื่อรวมกับพรรคพันธมิตร คือ ประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง  ภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง  ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง  รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง  ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง  พลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง  รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง  ประชาชนปฏิรูป  พลังชาติไทย  ประชาภิวัฒน์  ไทยศรีวิไลย์  พลังไทยรักไทย  ครูไทยเพื่อประชาชน  ประชานิยม  ประชาธรรมไทย  พลเมืองไทย  ประชาธิปไตยใหม่ และพลังธรรมใหม่ พรรคละ 1 ที่นั่ง ทำให้มี ส.ส. ทั้งหมด 254 ที่นั่ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง