โปรดเกล้าฯ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.07
กรุงเทพฯ
TH-patriarch-800 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขณะปฏิบัติกิจทางศาสนา
ภาพโดย เฟซบุ๊คพระ Pattaraphon Bongbut

ในวันอังคาร (7 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 และเตรียมจัดพิธีสถาปนาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังจากที่ ครม.ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อพระเถระ 5 รูป ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ได้ ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 ได้ทรงแต่งตั้งสังฆราชองค์ที่ 20 แล้ว

“วันนี้ ผมได้รับแจ้งว่าท่าน (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10) ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว เป็นสังฆราชองค์ที่ 20 ก็อย่าให้มีความขัดแย้งอีกเลยนะ ก็เป็นสมเด็จจากวัดราชบพิธฯ จะมีพิธีสถาปนา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น. ที่วัดพระแก้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงเสด็จไปประกอบพิธีตามจารีตประเพณี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ถ้าจำกันได้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ผมก็บอกอยู่ในขั้นตอนการปฎิบัติการเรื่องสังฆราชองค์ที่ 20 ระหว่างนั้นก็ได้ดำเนินคู่ขนานกันไปตลอด เรื่องรายชื่อมีการคัดกรอง มีการทำให้ ครม. รับทราบ แต่มันอยู่ในขั้นตอน ผมก็ไม่ให้รายละเอียดมากนัก จนกระทั่งถึงวันนี้ ขั้นตอนต่างๆ ก็ได้ดำเนินการมาระยะนึงแล้วโดยกติกา 3 ข้อ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนถือการสถาปนาครั้งนี้เป็นที่ยุติ และหวังว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก โดยชี้แจงว่า พระเถระรูปอื่นที่ถูกเสนอชื่อเป็นพระสังฆราช แต่ไม่ได้รับการสถาปนา เป็นพระเถระที่มีคุณสมบัติที่ดีทั้งหมด เพียงแต่การสถาปนาครั้งนี้พิจารณาจากเงื่อนไขหลายอย่าง และเป็นพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขอให้เป็นที่สิ้นสุด

ประวัติสมเด็จพระมหามุนีวงศ์

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต

เกิดในวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ณ ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 จ.ลพบุรี บรรพชาเป็นสามเณรในปี 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร จ.ราชบุรี ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในปี 2512

ปี 2556 เป็นหนึ่งในคณะปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สถาปนาพระสังฆราชล่าช้า

หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ขณะมีขณะมีพระชันษา 100 ปี 21 วันเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ทรงอุปสมบทรวม 80 พรรษา 329 วัน ตำแหน่งพระสังฆราชได้ว่างลง และมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำได้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมาโดยตลอด

เดือนมกราคม 2559 มหาเถรสมาคมได้รับรองมติประชุมลับที่เสนอให้สถาปนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ แต่อย่างไรไม่ได้มีการสถาปนาจริงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับมีเสียงคัดค้านจากประชาชนบางฝ่าย เนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ถูกพาดพิงในคดีรถโบราณ และถูกเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพระเทพญาณมหามุนี (ธัมมชโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกำลังถูกฟ้องร้องตามกฎหมายในหลายข้อหา

เดือนธันวาคม 2559 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบผ่านพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โดยระบุให้อำนาจในการแต่งตั้งพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนำไปสู่การแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง