นายกฯ แต่งตั้งพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ

มารียัม อัฮหมัด
2019.09.26
ปัตตานี
190926-TH-deepsouth-1000.jpg เจ้าหน้าที่ดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อดับไฟไหม้จากเหตุระเบิดศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี ภาพเมื่อ วันที่ 9 พฤษภาคม 2560
เอพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ซึ่งกำลังจะเกษียณราชการจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในสิ้นเดือนกันยายนนี้ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งตนให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ ได้แต่งตั้งให้ตนดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ แทนพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 โดยตนจะรับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ เป็นต้นไป

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แต่งตั้งผมเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทน พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยจะรับตำแหน่ง ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อสานต่อในงานพูดคุยสันติสุขฯ” พล.อ.วัลลภ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้านนายฟัดดือรี (ไม่ขอออกนามสกุล) แนวร่วมรายหนึ่งในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ฝ่ายขบวนการต้องการบรรลุเป้าหมายในการประกาศเอกราชเหนือดินแดนเท่านั้น

"คิดว่า ไม่ว่าใครจะมา ถ้าไม่ได้ตามเป้าหมาย คือ มือแดกอ เอกราช ก็ไม่มีผลอะไร ที่ผ่านมาการพูดคุยก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก การที่รัฐบาลตั้งคณะพูดคุยขึ้นมา เขาก็เล่นแต่เขา เราก็เล่นของเรา ต่างคนต่างหน้าที่ ก็ทำไป ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันคือ เรื่องน้ำเน่าที่เปลี่ยนแก้ว หลอกลวงไปเรื่อยๆ" นายฟัดดือรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม พล.อ.วัลลภ ยังได้กล่าวยืนยันว่าการพูดคุยสันติสุขฯ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะมีการชี้แจงภายหลังเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง  ขณะที่เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อพลเอกอุดมชัย เพื่อขอความคิดเห็นได้ ในวันนี้

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาตั้งแต่ปี 2560 โดยย้ายข้ามห้วยมาจากผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.อ.วัลลภ ยังเคยทำหน้าที่ประธานร่วมการประชุมในกรอบทวิภาคีกับอีกหลายประเทศ เช่น การประชุมคณะกรรมการการฝึกร่วมผสมไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีความรู้ความชำนาญและความคุ้นเคยกับมาเลเซียไม่น้อย

พล.อ.วัลลภ นับเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ คนที่ 3 ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำประเทศจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อปี 2557 โดยหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนแรก คือ พล.อ.อักษรา เกิดผล ทำหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 จนถึงเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งได้มีการเปิดตัวองค์กรมาราปาตานี ที่เป้นการรวมตัวของขบวนการต่างๆ เช่น บีอาร์เอ็น บีไอพีพี และพูโล เป็นต้น

จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนตัวเป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาธารัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ก็ทำงานได้เพียงหนึ่งปี ก็ถูกเปลี่ยนตัวอีกรอบ โดย พล.อ.อุดมชัย ขยับไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อขับเคลื่อนจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ทำงานเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และล่าสุด หัวหน้าพูดคุยฯ ก็ถูกเปลี่ยนอีกครั้ง เป็น พล.อ.วัลลภ

ประวัติการพูดคุยฯ

นับตั้งแต่การที่กลุ่มก่อความไม่สงบปล้นปืนกว่าสี่ร้อยกระบอกไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุจัน มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน แต่การพูดคุยฯ ที่ตั้งไข่มาในปี 2556 นั้น ล่าสุดได้สะดุดลงเมื่อต้นปีนี้ เนื่องจาก พล.อ.อุดมชัย ไม่ยอมพบกับคณะมาราปาตานี ตามที่นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้จัดแจง   

ทั้งนี้ ในปี 2556 ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินความพยายามในการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน โดยรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค ให้ฝ่ายมาเลเซียรับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาของสองฝ่าย ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบัน  ขณะที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด มาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่อีกสมัย  เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว ซึ่งได้แต่งตั้งนายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีต ผบ.สันติบาล เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่

ในเดือนสิงหาคม ปี 2558 ได้มีการเปิดเรื่องการพูดคุยของสองฝ่ายต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยในตอนต้น มาราปาตานี มีสมาชิกประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจิฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองกลุ่มย่อยๆ (กลุ่มพูโล ดีเอสพีพี หรือสภาซูรอเพื่อการนำพูโล และกลุ่มพูโล เอ็มเคพี) แต่การเจรจายุติลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เมื่อมาราปาตานี กล่าวว่าจะขอเจรจาอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งไทยเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีกลไกการทำงานใน 3 ระดับ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ คือ หนึ่ง คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เป็นคณะกรรมการระดับนโยบาย สอง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบัน มีพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่สี่ เป็นหัวหน้าคณะ หน้าที่พูดคุยโดยตรง และ สาม คณะประสานงานระดับพื้นที่ ที่มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่สี่ เป็นหัวหน้าคณะประสานงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง