ผู้แทนคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพไทย ยืนยันการพูดคุย จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน แม้ว่ามีเหตุรุนแรงในตัวเมืองยะลา

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.21
TH-peacetalk-620 ปืนกลบนรถทหารรักษาการณ์ ขณะกลุ่มผู้หญิงมุสลิมและเด็ก 300 คน ร่วมชุมนุมประท้วงโดยปิดกั้นทางหลวง เพื่อต่อต้านการสังหารหมู่สมาชิกสามคนในครอบครัว จังหวัดปัตตานี ภาคใต้ของไทย โดยเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบ การสังหารชายคนหนึ่งและลูกสองคนของเขา ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ 8 พฤษภาคม 2550 หนึ่งในเหตุก่อความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เอเอฟพี

พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ (21 พ.ค. 2558) ว่าจะยังมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับ “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาล” ในห้วงเดือนมิถุนายน ในประเทศมาเลเซีย แม้ว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงในตัวจังหวัดยะลาก็ตาม

พลตรีนักรบ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของฝ่ายไทย ได้กล่าวว่า การก่อเหตุรุนแรงในยะลาในช่วงวันที่ 14 ถึง 16 พฤษภาคม ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเตรียมการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่กำหนดไว้คร่าวๆ ว่า จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้เพราะเรื่องการพูดคุย เป็นเรื่องในระดับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีของทั้งประเทศไทยและมาเลเซียได้มี ความเห็นร่วมกันในการดำเนินการ

“เหตุการณ์ระเบิดในยะลาไม่เกี่ยวกันครับ และการพูดคุยเพื่อสันติสุข จะมีขึ้นในห้วงเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นการพูดคุยทางลับ ส่วนจะมีใครเข้าร่วมเจรจาบ้างนั้น สื่อมวลชนจะทราบกันอีกที” พลตรีนักรบ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

“กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติ เป็นกระบวนการในระดับนโยบาย ระดับนายกไทยและมาเลเซีย ที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน เมื่อได้พูดคุยกัน สถานการณ์ก็ต้องดีขึ้น ทุกๆประเทศที่มีความขัดแย้ง ล้วนแล้วแต่ต้องพูดคุยกันทั้งนั้น” พลตรีนักรบกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการเตีรยมการพูดคุยเพื่อสันติสุข ในฝั่งมาเลเซียนั้น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ของวันที่ 9-10 พฤษภาคม สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือ Joint Working Group-Peace Dialogue Process (JWG-PDP) ที่มีดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) เป็นประธาน ได้มีการจัดประชุมตัวแทนจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทย 6 กลุ่ม เพื่อหาจุดยืนร่วมกัน ในการเจรจาสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย

ซึ่งตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย จำนวน 6 กลุ่ม ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ “องค์กรร่วมเพื่อความก้าวหน้าปาตานี” หรือ MARA Patani (Majlis-ash-Shura Patani) โดยหกกลุ่มที่เข้าร่วมประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP)  ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) 3 กลุ่มย่อย

เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของหน่วยข่าวในพื้นที่ เป็นไปได้สูงว่าการปฏิบัติการลอบวางระเบิดกว่า 40 จุด ในตัวเมืองยะลาในครั้งนี้ น่าจะเป็นการสั่งการของ นายสะแปอิง บาซอ แกนนำระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ปฏิเสธการเข้าร่วมพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย

"ที่ผ่านมาทางการไทยพยายามเชิญตัว นายสะแปอิง บาซอ เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ถูกปฏิเสธมาตลอด เป็นไปได้ว่า นายสะแปอิง บาซอ ซึ่งคุมกำลัง RKK และแนวร่วมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดที่ไม่ยอมเจรจา สั่งการให้นายมะสุกรี มามะ นำกำลังก่อเหตุในครั้งนี้" เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวต่อเบนาร์นิวส์

อนึ่ง นายสะแปอิง บาซอ อดีตเป็นครูใหญ่ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ในจังหวัดยะลา ภายหลังได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากทางการไทยได้กล่าวหา ว่าเป็นผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดน และถูกหมายจับของทางการไทย ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่า ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีของปาตานีดารุสลาม หากแบ่งแยกดินแดนสำเร็จ

"ทราบคนที่จะเข้าร่วมมี นายมะสุกรี ฮารี นายอาวัง ยาบะ นายซัมซุดิน คาน นายอับดุลเลาะ สามามะ นายกัสตูรี มะห์โกตา นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ซึ่งทั้งหมดตอบรับที่จะเข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติสุขในครั้งนี้ แต่ยังไม่มีชื่อนายฮาซัน ตอยิบ ที่เข้าร่วมเจรจาในครั้งล่าสุดและนายสะแปอิง บาซอ แต่อย่างใด" เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันกล่าว

การเจรจาหรือการพูดคุยสันติภาพ ได้ถูกริเริ่มในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการพูดคุยเป็นครั้งแรกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 หลังจากนั้น มีการเจรจาเป็นครั้งที่สอง ในปลายปี พ.ศ. 2556 ต้องสะดุดลงด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ทางผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับเอกราชเหนือดินแดนปัตตานีของตน โดยในการเจรจานั้น มีนายฮัซซัน บิน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายกลุ่มแยกดินแดน ส่วนฝ่ายไทยคือ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ส่วนในการเจรจาครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะมี พลเอก อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของฝ่ายไทย ที่ได้เปิดวงพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกับแกนนำฝ่ายบีอาร์เอ็น พูโล บีเอ็นพีพี และจีเอ็มไอพี ในการประชุมลับไปบ้างแล้ว จากคำบอกกล่าวของอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้หนึ่ง

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า หกพันสามร้อยคน และบาดเจ็บมากกว่า หนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง