ไทย: การพูดคุยสันติภาพภาคใต้ล่าช้าออกไป เจ้าหน้าที่กล่าว

โดย ภิมุข รักขนาม และนาซือเราะ
2015.06.22
TH-peacetalk-620 นายฮัสซัน บิน ตอยิบ หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) กำลังเดินออกจากพิธีเริ่มการเจรจากระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลไทย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ของไทยที่พยายามเริ่มการพูดคุยสันติภาพอีกครั้งกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ กำลังประสบความลำบากในการนำผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ กลับสู่โต๊ะเจรจา ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจาดังกล่าวบอกแก่เบนาร์นิวส์

พล.ต. นักรบ บุญบัวทอง แห่งกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เขาจะพยายามต่อไปเพื่อให้เกิดการเจรจาอย่างเป็นทางการรอบใหม่กับกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนจากบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ของไทย

กระบวนการเจรจานั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนที่เปราะบางในการสร้างความเชื่อมั่น ตามความเห็นของเขา

“มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความไว้วางใจไตรภาคีระหว่างไทย มาเลเซีย และผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ” พล.ต. นักรบ กล่าว

เมื่อเดือนที่แล้ว เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า การพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซียเป็นตัวกลางจัดขึ้นนั้น คาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน เมื่อเดือนเมษายน พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ออกความเห็นว่า การพูดคุยดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่กล่าวนั้น

การพูดคุยรอบใหม่เกิดความล่าช้า เนื่องจากบรรดากลุ่มย่อยที่มีทัศนะต่างกันในกลุ่ม “ผู้เห็นต่าง” ยังไม่ยินยอมกลับสู่โต๊ะเจรจา พล.ต. นักรบ กล่าว

“เราจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” เขากล่าว “และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้แทนที่ถูกต้อง ผมไม่ทราบว่าใครเป็นใคร และว่าพวกเขาเป็นคนประเภทใด”

การประชุมลับ

นักวิชาการไทยคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องในการพูดคุยสันติภาพรอบก่อน ๆ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนนี้ คณะผู้เจรจาของรัฐบาลไทยได้จัดการประชุมลับกับผู้แทนกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ผู้แทนเหล่านั้นพยายามเจรจาขอหยุดยิงก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุย แต่การประชุมดังกล่าวไร้ผลโดยสิ้นเชิง

“เท่าที่ผมทราบ มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 หรือ 9 มิถุนายน ระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยและผู้แทนขององค์กรสภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี (MARA Patani) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกแก่เบนาร์นิวส์

นายศรีสมภพ กล่าวถึงองค์กรร่มที่ชื่อ MARA Patani ซึ่งเกิดจากการรวมกันเมื่อไม่นานมานี้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหกกลุ่ม เพื่อร่วมกันเจรจากับรัฐบาล

องค์กรร่มนั้นประกอบด้วย สามกลุ่มย่อยของ ขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (PULO) และผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นอีกสามกลุ่ม คือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) และ ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP)

กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลไทยมาโดยตลอด เพื่อแยกสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ออกมาเป็นรัฐอิสระ พื้นที่ดังกล่าวได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา

ตามคำกล่าวของนายศรีสมภพ การเจรจาลับในกรุงกัวลาลัมเปอร์มุ่งที่ข้อเสนอให้มีการพักรบในระหว่างเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม และเริ่มต้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

“มีการพูดคุยถึง ‘การหยุดยิง’ ในระหว่างช่วงเดือนรอมฎอน แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ เราบอกไม่ได้ว่า มีการตกลงหยุดยิงกันในช่วงรอมฎอน” เขากล่าว

นิรโทษกรรมชั่วคราวช่วงเดือนรอมฎอน

พล.ต.นักรบ ไม่ยืนยันว่ามีการประชุมก่อนการพูดคุยเกิดขึ้นจริงในประเทศมาเลเซียเมื่อต้นเดือนนี้

แต่เขายอมรับว่า รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ เห็นด้วยกับการพักรบเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะมีการพูดคุยสันติภาพกัน

“ผมพูดเรื่องการพักรบ ไม่ใช่เพราะเป็นช่วงรอมฎอนเท่านั้น แต่ยังเพราะการกระทำอื่นทั้งหมด เพื่อเห็นแก่เอกภาพของเผ่าพันธุ์มนุษย์และความเชื่อของมนุษย์” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมากถึง 473 คน ได้ยินยอมเข้าร่วมในโครงการหนึ่งของทหาร ซึ่งอนุญาตให้คนเหล่านั้นออกมาจากที่หลบซ่อน และกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ในช่วงเดือนรอมฎอน โดยไม่ถูกจับกุมตัว เจ้าหน้าที่กล่าว

โครงการผ่อนผันชั่วคราวนี้ ภายใต้เงื่อนไขว่าคนเหล่านั้นต้องไม่กระทำการรุนแรงใด ๆ ในระหว่างเดือนรอมฎอน เจ้าหน้าที่ของไทยกล่าว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการทำพิธีเปิดโครงการนั้นที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา ในจังหวัดนราธิวาส

การเจรจาที่ผ่านมา

การเจรจารอบใหม่จะเป็นการพูดคุยครั้งแรกภายใต้รัฐบาลทหารของไทย ซึ่งเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากรัฐบาลพลเรือนที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

การเจรจารอบสุดท้ายมีขึ้นขณะที่เธอยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หยุดลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

ไทยได้ลงนามในข้อตกลงขั้นต้นกับ BRN ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการเจรจาสองรอบภายหลัง

แต่กระบวนการนั้นสะดุดลง เมื่อต่อมา นายฮัสซัน บิน ตอยิบ หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่ม BRN ประกาศข้อเรียกร้องจำนวนห้าข้อทางวิดีโอที่โพสต์ลงในยูทูป ซึ่งถูกรัฐบาลไทยปฏิเสธ

ข้อเรียกร้องเหล่านั้นขอให้รัฐบาลให้อธิปไตยแก่อาณาเขตทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนใต้ และให้ยอมรับ “ชาติปาตานีมาเลย์”

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเรียกร้องมากเกินไป การเจรจาจึงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นายศรีสมภพกล่าว

“ไม่มีการยืดหยุ่นใด ๆ เลยสำหรับเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ข้อเรียกร้องเรื่องอัตลักษณ์ (ของชาวมาเลย์ปาตานี) การปกครองตนเองหรืออัตตาณัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ขอมาเป็นเวลานานแล้ว” เขากล่าว

‘เป้าหมายสูงสุดของเรา’

ในการสัมภาษณ์ต่างหาก ผู้ก่อความไม่สงบคนหนึ่งในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ผู้ต้องการแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระ ได้ปฏิเสธแนวคิดของการปกครองตนเอง หรือ ปัตตานีมหานคร และสิ่งเดียวที่จะยอมรับคือ การได้อธิปไตยเหนือแผ่นดินนั้น

“สำหรับขบวนการของเราแล้ว ไม่มีคำว่า ปัตตานีมหานคร อย่างที่ภาคประชาสังคมบางกลุ่มเสนอมา” ผู้ก่อความไม่สงบคนนั้น ซึ่งยอมพูดโดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เปิดเผยชื่อ และกลุ่มที่เขาสังกัดอยู่ บอกแก่เบนาร์นิวส์

เพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก่อนหน้าการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ที่จะมีขึ้น รัฐบาลไทยควรปล่อยตัวนายสะมะแอ สะอะ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า หะยี อิซามะแอ ท่าน้ำ หรือ นายสะมะแอ สะอะ ภายในสิ้นเดือนรอมฎอน ผู้ก่อความไม่สงบคนนั้นกล่าว

“แผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดของเรา ผู้ที่ส่งเสริมแนวคิดการปกครองตนเอง กำลังพูดสิ่งที่ไม่ได้ออกมาจากปากของคนปาตานีมาเลย์” เขากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง