การไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงคืออุปสรรคในกระบวนการเจรจาสันติสุข

ราซลาน ราชิด และ ดอน ปาทาน
2016.12.29
กัวลาลัมเปอร์ และ ยะลา
TH-pattani-1000 เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินผ่านร้านสะดวกซื้อที่ถูกวางระเบิดในปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559
เอเอฟพี

หลังจากการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกันของตัวแทนรัฐบาลทหารของไทย และฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องพื้นที่หยุดยิงเฉพาะจุด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ในบทความที่โฆษกของมาราปาตานีได้เขียนไว้เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีของกระบวนการเจรจารอบใหม่นี้ โฆษกฯ ได้กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยได้ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2560 นี้

“มีการคาดหวังว่า ภายในครึ่งปีแรกของ ปี พ.ศ. 2560 จะสามารถทดลองจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยตามโครงการนำร่องได้ในพื้นที่ที่กำหนด” นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม เขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ทางเวบไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2559 นี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน หลังจากการพบปะของคณะกรรมการทางเทคนิคของทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 19-21 เดือนนี้ว่า สองฝ่ายได้จัดเตรียมร่างกรอบแนวความคิดและความร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว

แต่แหล่งข่าวของทางการไทยบางราย กลับไม่มีความมั่นใจในเรื่องการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยอย่างจำกัดเขตมากนัก ว่าจะสามารถทำได้ภายในกรอบเวลานั้น เจ้าหน้าที่เหล่านั้น กล่าวว่า มันขึ้นอยู่กับกลุ่มหัวรุนแรงของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่แข็งแกร่งที่สุด จะยอมรับ และให้การสนับสนุนการดำเนินการนี้หรือไม่

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ได้รับมอบหมายในการวิเคราะห์การเจรจาของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาราปาตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า “ยังไม่มีการกำหนดห้วงเวลาในการจัดตั้งพื้นที่หยุดยิงแบบจำกัดเขต”

“อาบู ฮาฟิซ อยากเห็นการดำเนินการแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรมภายในหกเดือนแรกของปี 2560 แต่ไม่มีอะไรมาประกันได้ว่าจะเป็นจริง มันขึ้นอยู่กับว่ามาราปาตานีจะสามารถจูงใจพวกกองกำลังฝ่ายปฏิบัติการของตนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยท่านหนึ่งกล่าวโดยไม่ประสงค์จะออกนาม

มีการใช้พื้นที่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในมาตรการการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน และเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง นับตั้งแต่การตกลงกันที่จะพูดคุยสันติภาพ เมื่อปี 2546 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยังเร็วเกินไป

ทางฝ่ายมาราปาตานี ได้โต้แย้งข้อวิจารณ์ที่ว่า คณะเจรจาของมาราปาตานี ไม่ได้เป็นตัวแทนสมาชิกของบีอาร์เอ็นรวมอยู่ด้วย โดยยังกล่าวว่าในคณะฯ มีสมาชิกอย่างน้อยสามคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มย่อยของบีอาร์เอ็น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อาบู ฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ตกลงกันถึงการหยุดยิงเบื้องต้น ที่ยังจะต้องกำหนดพื้นที่ใดๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง

“ยังไม่ได้มีการตัดสินใจอะไรลงไป เป็นเพียงความหวังของผม ดูจากความคืบหน้าเมื่อเร็วๆ นี้” อาบู ฮาฟิซ กล่าว

ในบทความของเขา อาบู ฮาฟิซ กล่าวว่า ได้มีการเจรจากันของทีมเทคนิค หรือมีการเจรจาเต็มคณะอย่างน้อยหกครั้ง ในปี 2559

อาบู ฮาฟิซ ได้กล่าวอีกว่า ในการพูดคุยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางมาราปาตานีได้ขอให้รัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองต่อสมาชิกเจรจาของมาราปาตานี ปล่อยตัวฝ่ายกองกำลังที่ถูกควบคุมตัวอยู่ นอกเหนือไปจากมาตรการอื่นในการสร้างความไว้วางใจกัน

แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยกล่าว การเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เป็นนักโทษกบฏ เพื่อให้การเจรจาดำเนินไปได้นั้น “เป็นไปได้ยากยิ่ง”

“สำหรับผมแล้ว กระบวนการการเจรจา ยังอยู่ในขั้นแรกๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันนั้น ยังต้องรอดู” กัสตูริ มาห์โกตา แกนนำขบวนการพูโล ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกมาราปาตานีกล่าว

นอกจากนั้น กัสตูริ ยังเตือนว่าการจัดตั้งเขตปลอดภัยอาจจะมีผลกระทบย้อนกลับเข้าตัว มาราปาตานีเอง

“สำหรับผม เรื่องเซฟตี้โซน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากอย่างยิ่ง หากไม่ได้มีการพูดคุยจำเพาะเจาะจงให้รอบคอบ อาจจะทำให้ทางการไทยได้เปรียบ... กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง และจะได้รับการยอมรับจากชุมชน จากสมาชิกในกลุ่มเพียง ในกลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ และกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่กี่คนเท่านั้น” กัสตูริ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

บีอาร์เอ็นตัวจริง

การเจรจาในปีนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการดำเนินไปของการฆ่าผู้คนในพื้นที่ที่เกิดเหตุการแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 60

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน เป็นต้นมา เมื่อทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยในเมืองหลวงของมาเลเซีย และได้ตกลงที่จะพูดถึงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในการเจรจาครั้งต่อไป มีเหตุการณ์ยิงและระเบิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย และบาดเจ็บ 69 ราย โดยสงสัยว่าเป็นฝีมือของฝ่ายกบฏ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็งเมื่อปี 2547 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,700 ราย ตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้

เจ้าหน้าที่ไทยอีกรายหนึ่งกล่าวว่า นายทหารการข่าวที่ติดตามความพยายามในการพูดคุยเพื่อสันติสุข ทางการไทยควรพูดคุยให้ดำเนินไปเรื่อยๆ

“ด้วยการพูดคุยกับมาราปาตานี เราหวังว่าบีอาร์เอ็นตัวจริง ที่เป็นคนควบคุมกองกำลังในพื้นที่จะคิดได้ และเข้าเริ่มกระบวนการ เรารู้สึกเวลาเข้าข้างเรา ยิ่งยืดเยื้อออกไป ยิ่งมีแรงกดดันต่อบีอาร์เอ็นให้พิจารณา นโยบายไม่ยอมเจรจา...อีกครั้ง” เจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“แนวคิดคือการยืดการเจรจากับมาราปาตานีออกไปให้นานจนกระทั่งบีอาร์เอ็นตัวจริงเปลี่ยนใจและยอมร่วมโต๊ะเจรจา” เจ้าหน้าที่ข่าวกรองรายดังกล่าวกล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง