ภรรยานายอับดุลเลาะ แจ้งความเพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัยทำสามีตาย

มารียัม อัฮหมัด
2019.10.01
ปัตตานี
191001-TH-filing-police-800.jpg นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ (คนที่สองจากซ้ายมือ) ภรรยานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และนายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ (คนถัดไปด้านขวามือ) ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิปัตตานี รอเข้ายื่นคำร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เรื่องการตายของสามี วันที่ 1 ตุลาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นผู้กระทำให้สามีของตนเสียชีวิต ซึ่งสามีตนหมดสติในเดือนกรกฎาคม แล้วเสียชีวิตในระหว่างรับการรักษาพยาบาล ในเวลากว่าหนึ่งเดือนถัดมา

นางสาวซูไมยะห์ ได้เดินทางไปยัง สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยนายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ หรือทนายกอฮา ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิปัตตานี และทีมกฎหมายของศูนย์ทนายความ และทีมกฎหมายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้ายื่นคำร้องทุกข์เป็นายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ในศูนย์ซักถาม ต่อการสูญเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 หลังให้การรักษาเป็นเวลา 35 วัน

"แจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่เขาแล้ว หลังจากสามีตายที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ และทางโรงพยาบาลได้ออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต ระบุสาเหตุการตายว่า เสียชีวิตจากภาวะสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด หวังว่าจะได้รับความยุติธรรม" นางสาวซูไมยะห์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

พ.ต.ท.จักรกฤติ แสงจันทร์ รอง ผกก.สอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ในชั้นต้น เจ้าพนักงานสอบสวนได้เริ่มสอบสวนฝ่ายผู้เสียหาย

"ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากญาติและทนายความแล้ว ซึ่งขณะนี้ ทางพนักงานสอบสวนเริ่มทำการสอบสวนฝ่ายผู้เสียหาย ได้แก่นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยานายอับดุลเลาะผู้ตาย และญาติ โดยมีทนายเข้าร่วมรับฟัง หลังจากนี้ จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่” พ.ต.ท.จักรกฤติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นี้ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ถูกควบคุมด้วยอำนาจ พรก.ฉุกเฉิน แล้วนำไปสอบสวนในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ว่า นายอับดุลเลาะ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอสายบุรี ปัตตานี หลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะ จากบ้านพักในพื้นที่ ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เพื่อมาซักถาม โดยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา อยู่ในเหตุการณ์

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 25625 เจ้าหน้าที่พบว่านายอับดุลเลาะ หมดสติอยู่ภายในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธฯ จึงได้นำตัวนายอับดุลเลาะ ไปรับการรักษาเบื้องต้น ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ส่งไปรักษาตัวนายอับดุลเลาะ ไปรับการรักษาต่อ ณ ผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลปัตตานี จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤติทางอายุรกรรมเป็นเวลา 30 วัน และเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ กอ.รมน. เป็นผู้ก่อตั้ง ได้แถลงข่าว เมื่อปลายเดือนสิงหาคม นี้ โดยอ้างอิงแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะว่า เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock) ส่วนญาติๆ ได้ทำพิธีฝังศพนายอัลดุลเลาะ ที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

ทนายย้ำ ญาติต้องได้รับทราบสาเหตุที่แท้จริง

นายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิปัตตานี กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจกฎหมายพิเศษ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“การสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏว่า ก่อนการถูกควบคุมตัวนายอับดุลเลาะไปนั้น นายอับดุลเลาะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว สมาชิกในครอบครัวและสังคม ต้องได้รับคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนายอับดุลเลาะ ระหว่างถูกควบคุมตัวภายในศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร" นายอับดุลกอฮัร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“หากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ติดตาม และหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” นายอับดุลกอฮัร กล่าวเพิ่มเติม

ในคดีนี้ ทนายความศุนย์ทนายความมุสลิม และทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายจากญาติของผู้ตายให้ช่วยเหลือในคดี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายอับดุลเลาะและญาติต่อไปให้ถึงที่สุด ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในระดับนโยบาย และกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ญาติกล่าวว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม นี้ ทางครอบครัวอีซอมูซอ จะจัดงานครบรอบ 40 วัน เป็นประเพณีทางศาสนาให้แก่นายอับดุลเลาะ ที่บ้านในพื้นที่ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และในวันที่ 9 ตุลาคม นี้ จะเดินทางมายื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องขอความยุติธรรมอีกด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง