ไทยย่างสู่ปีที่ 3 รัฐประหาร ยังคงหาหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.23
กรุงเทพฯ
TH-junta-anniversary-620 กลุ่มต่อต้าน คสช. รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจสู่ประชาชน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะรัฐมนตรีรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย พร้อมด้วยการแต่งตั้งรัฐบาลซึ่งประกาศจุดยืนว่าจะปฎิรูปประเทศ ต่อสู้กับการทุจริต รวมทั้งมุ่งหน้าสู่ความปรองดองภายในประเทศ ปัจจุบัน ครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารแล้ว แต่หลายฝ่ายยังคงไม่มีทีท่าว่าจะหันหน้าปรองดองกันได้

เมื่อวันอาทิตย์ (22 พฤษภาคม 2559) ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 300 คน นำโดยนักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้จัดงานรำลึก 2 ปีการทำรัฐประหาร ด้วยการจัดกิจกรรมเดินขบวน จากภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนมาหยุดรวมตัวและปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน จุดประสงค์การรวมตัวครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาล คสช. ลงจากตำแหน่งและคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้ง

โดยนายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้กล่าวปราศรัยโดยชี้ว่า รัฐบาลทหารจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

“ผมคิดเสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง กปปส. หรือขั้วการเมืองใด ทุกคนคือคนไทย และเสียงของพวกเขาจะไม่ไร้ความหมาย เราจะเคารพ และมองพวกเขาเหมือนคนไทยทุกคน เราไม่อาจจะเพิกเฉยให้เสียงของพวกเขาไร้ความหมายได้ สองปีมานี้ เสียงของคนไทยถูกเพิกเฉย สองปีมานี้ถ้าเทียบกับอายุของพวกเรา มันอาจจะไม่นาน แต่มันนานมากพอที่จะบอกว่ารัฐบาลนี้มันชั่วช้าสามานแค่ไหน” นายรังสิมันต์กล่าว

ตัวแทนนักศึกษาคนอื่นๆยังได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโดยมีเนื้อหา มุ่งเน้นที่การโจมตีการทำหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบัน เรียกร้องให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และยังรณรงค์ให้ประชาชนลงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะจัดให้มีการประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้

กลุ่มสตรีรวมตัวขับไล่ทูตสหรัฐฯ สนับสนุนการทำงานของ คสช.

ในวันจันทร์ (23 พฤษภาคม 2559) นี้ ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ประชาชนกว่า 50 คน นำโดยกลุ่มสตรีศรีสยาม ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรียกตัวนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกลับ เพราะเชื่อว่านายเดวีส์ ไม่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ เนื่องจากแสดงกริยาผิดมารยาททางการทูตด้วยการวิจารณ์กฎหมายและธรรมเนียมไทย ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ต่อหน้านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

กลุ่มสตรีศรีสยาม ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐเรียกตัวเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยกลับประเทศ วันที่ 23 พ.ค. 2559 (เบนาร์นิวส์)

นางพัชรายุ โล่ชนะชัย เลขาธิการกลุ่มสตรีศรีสยาม ได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มต่อสื่อมวลชนโดยใจความของแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหยุดแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย

“W Thailand (สตรีศรีสยาม) ในฐานะของประชาชนชาวไทย ขอเรียกร้องให้ ท่านประธานาธิบดีได้เรียกตัว นายกลิน ที เดวีส์ กลับไป และขอให้ท่านโปรดพิจารณาในการส่งบุคลากรที่มีคุณสมบัติของนักการทูตที่ดี รู้จักมารยาทอันเหมาะควร และไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และประเทศอื่นไม่ควรที่จะเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งหรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ” นางพัชรายุ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ยังได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล คสช. และต้องการให้รัฐบาลทหารอยู่ทำหน้าที่ต่อไป โดยชี้ว่า การใช้กฎหมายบางข้อที่จำกัดการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิการแสดงออกบางอย่างของประชาชน เป็นการใช้อำนาจที่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไทยอยู่ในสภาวะพิเศษ มีความขัดแย้ง จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อลดเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

ความคิดเห็นประชาชนต่อสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย

นายกิตติ ตันติเวชยานนท์ ชาวกรุงเทพ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์ถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันว่า บ้านเมืองมีความสงบสุขมากขึ้น การทุจริตคอรัปชั่นลดลง หลังจากการเข้ามาของรัฐบาล คสช.

“การที่ทหารคุมอำนาจอยู่ ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น การคอร์รัปชันลดลง ที่ผ่านๆ มา ปัญหาเกิดจากนักการเมืองทั้งนั้น คสช. ให้อิสระในการพูด แต่ไม่ใช่การออกมาชุมนุมปลุกระดม คุณออกมาแสดงความคิดเห็นได้ แต่ปลุกระดมให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่ได้” นายกิตติกล่าว

“การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ตามโรดแมปของ คสช. ในขณะที่มีการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ ขอให้ออกมาลงประชามติเหมือนมีการเลือกตั้ง หากรัฐธรรมนูญใหม่สามารถควบคุมนักการเมืองให้อยู่ในกรอบได้ ให้ไม่สามารถคอร์รัปชั่นได้ ก็น่าจะเป็นการดี” นายกิตติกล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาค มารดาของ น.ส. กมนเกด อัคฮาค อาสาพยาบาล ซึ่งเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์ว่า หลังจากการเข้ามาของรัฐบาล คสช. ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศแย่ลง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน และเชื่อว่าการปรองดองยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

“มันสำคัญที่สุดคือเรื่องปากท้องของประชาชน ระยะ 2 ปีมานี้มันแย่มากเลย แล้วก็ประชาชนโดนจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น 2 ปีมานี้ กลายเป็นว่าการปฎิรูปประเทศให้มันดีขึ้นอย่างที่เขาว่า กลับกลายเป็นมันขัดแย้งมากขึ้น” นางพะเยาว์กล่าว

“การปรองดองกันได้ไม่ใช่คุณออกกฎหมาย คุณไปบังคับเขาให้ปรองดองเป็นไปไม่ได้ การปรองดองต้องเกิดจากใจที่เราให้กัน ถ้าจะให้ประชาชนเขารู้สึกปรองดอง อย่างน้อยที่สุดแกนนำทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ เวลาที่ประชาชนเขาจัดงานรำลึก (รำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตหรือสูญเสียจากการชุมนุม) คุณต้องไปร่วม จะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายแกนนำอะไร ไม่ต้องไปมองที่สีเสื้อแล้ว แต่ให้มองว่า ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ” นางพะเยาว์กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจส่วนตัวเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจในการตัดสินใจให้กับประชาชน

“วันนี้ ประชาชนกำลังจะเผชิญกับความยากลำบาก จากปัญหาปากท้อง ความยากจน รวมถึงปัญหา สังคม ยาเสพติดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงอยากให้เร่งคืนความสุข ที่เป็นการคืนอำนาจ สิทธิ อิสรภาพ และ เสรีภาพ รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งแทนการคืนความสุขบนความอึดอัดด้วยการกดไว้เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ แท้จริงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่” ส่วนหนึ่งของข้อความที่นางสาวยิ่งลักษณ์โพสต์

การเดินหน้าสู่การเลือกตั้งของ คสช.

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเดินหน้าสู่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำลังดำเนินการประชาสัมพันธ์รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ และชี้แจงขั้นตอนการลงประชามติสู่สาธารณชน ซึ่งตามแผนการของ คสช. นั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ รัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560

โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติของประชาชน รัฐบาลก็จะยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในกลางปี 2560 อย่างแน่นอน

“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ผมก็จะให้เลือกตั้งให้ได้ ตามกำหนดเดิมของโรดแมป ที่ตั้งใจให้ผ่านก็เพื่ออนาคตประเทศไทย ถ้าทุกคนจะอยากได้ของเดิมก็เสียเวลาเปล่า ถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ผมก็ทำให้เลือกตั้งได้ก็แล้วกัน ยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง...ผมยืนยันว่ากรกฎาคม 2560 ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้ง ก็ไปสู้กันเอาเอง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 26 มกราคม 2559

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง