โฆษกกรรมาธิการร่างพรบ.ชี้แจงพรบ. ยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ใช่ข้อผูกมัด

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ อวิกา องค์รัตนะคณา
2017.06.26
กรุงเทพฯ
TH-politics-620 ประชาชนรวมตัวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวาระครบรอบ 2 ปี การทำรัฐประหารโดย คสช. วันที่ 22 พฤษภาคม 2559
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวแก่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ รัฐบาลในอนาคตสามารถมีความยืดหยุ่นในการเขียนแผนแม่บทในการบริหารประเทศได้เอง แม้ว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ที่รัฐบาลต้องวางแผนให้สอดคล้องกันก็ตาม

“ร่าง พรบ.ยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การมัดมือชกหรือเป็นข้อผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติตาม เพราะแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเพียงการระบุเรื่องวิสัยทัศน์และเป้าหมายยุทธศาสตร์ในกรอบกว้างๆ 20 ปี ส่วนรายละเอียดและนโยบายการปฏิบัติงาน จะอยู่ในแผนแม่บทที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารแต่ละชุดเขียนขึ้นมาเอง” พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ กล่าว

คำกล่าวของพล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ มีความขัดแย้งกับการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า หากรัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนี้ไม่ปฎิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกร่างไว้แล้ว จะมีความผิด และอาจถูกลงโทษโดยการจำคุก

“กรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้จะมอนิเตอร์ คือตามดูไปด้วย 5 ปี ใครไม่ปฎิบัติตามจะได้ฟ้องรายงานมาได้ถูกต้อง เรื่องใหญ่มากยุทธศาสตร์ชาติถ้าฝ่าฝืน ทำผิด ขัดแย้ง ไปจนถึง ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นถอดถอน ติดคุกติดตารางไปเลยเชียวล่ะ” นายวิษณุกล่าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นว่า การลงโทษดังกล่าวรุนแรงเกินไป

“ตามความคิดผมโทษจำคุกก็ถือว่ารุนแรง แผนยุทธศาสตร์มันมาจากการกรรมการที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ ใครไม่ทำก็มีความผิด แต่พอทำแล้วก็อาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ยาก มันไม่ควรจะมีโทษถึงขั้นจำคุก” นายนิพิฏฐ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

นอกจากนั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า การทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่

“การทำแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวเป็นสิ่งที่ดีเพราะการเมืองไทยไม่แน่นอน รัฐบาลอยู่ไม่ยาว 2-3 ปี ก็ไป เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ได้เขียนเป็นกฎหมาย มีจุดด้อยตรงที่ว่าแก้ไขยากมาก เพราะมี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการสรรหาของผู้มีอำนาจ จะไม่ให้แก้แผนยุทธศาสตร์ชาติมีแนวโน้มสูง” นายนิพิฏฐ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“สิ่งที่กังวลคือ ถ้าเกิดว่าบ้านเมือง สถานการณ์โลกมันเปลี่ยนเร็ว ถ้าแผนยุทธศาสตร์ชาติจำเป็นต้องมีการแก้ไข มันแก้ยาก” นายนิพิฏฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เนื่องจากเป็นการจำกัดอิสระทางนโยบายของรัฐบาลในอนาคต และไม่ยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริหารให้ทันสมัย

“ไม่เห็นด้วยในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะมันเป็นการผูกมัดรัฐบาลต่อๆ ไปในอนาคต โลกมันปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มันต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย แล้วหากมีการแข่งขันมากๆ เมืองไทยจะไปติดกับดักอยู่กับแผนยุทธศาสตร์ เพราะกฎหมายมันแก้ได้ยาก หากมีการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถกำหนดนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เลย นี่คือปัญหาใหญ่” นายสมคิด กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเตรียมยื่นฟ้องต้องศาลรัฐธรรมนูญว่า พรบ.ฉบับนี้ ไม่ได้ผ่านกระบวนการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่พล.ร.อ.พัลลภ กล่าวว่า ได้มีการเผยแพร่ร่างพรบ. ทางเวบไซต์ www.thaigov.go.th และมีผู้แสดงความคิดเห็นแล้ว จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

กฎหมายปราบโกง

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศเดินหน้าประเทศสู่การปฎิรูปเพื่อขจัดปัญหาทุจริต ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ โดย คสช. จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศชั่วคราว ในระหว่างการวางรากฐานการปฎิรูปฯ

ในระหว่างนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อเขียน “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต

จากนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงลงพระปรมาภิไธยบนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งในมาตรา 65 กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ มาตรา 142 กำหนดให้ การเสนองบประมาณของรัฐบาล ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายใน 15 วัน

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยหลังจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการ 17 คน โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงรวม 7 ตำแหน่ง แล้วจะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีกรรมการ 14 คน เพื่อทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายใน 120 วัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง