นายกฯ ออกสารถึงประชาชน ขอโทษตั้งรัฐบาลยังไม่ได้
2019.07.01
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสารถึงประชาชน แสดงความรู้สึกไม่สบายใจ และขอโทษแทนพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากว่ายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่าสามเดือน เพราะเกิดปัญหาขัดแย้งในการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี โดยนายกฯ ระบุว่า ไม่ต้องการให้มีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่ง "สารจากนายกรัฐมนตรี" เพื่อชี้แจงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ผ่านทางสื่อมวลชน
“นายกรัฐมนตรี มีความรู้สึกไม่สบายใจ และต้องขอโทษพี่น้องประชาชนแทนพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเป็นบุคคลที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องในห้วงเวลานี้ มีข่าวสารความขัดแย้งภายในพรรคปรากฎตามสื่อต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สมาชิกมาจากหลายกลุ่มหลายสาขาที่มีความมุ่งมั่นจะทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และหน้าที่บริหารในคณะรัฐมนตรีให้ดีที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในสาร
สารดังกล่าว ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในฐานะรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล
“เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นอีก การบริหารบุคลากรเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านให้มากที่สุด… นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการตำหนิใครหรือสร้างความขัดแย้งใด ๆ ขึ้นมาอีก” ตอนหนึ่งของสารจากนายกรัฐมนตรี ระบุ
ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ แม้การเลือกตั้งผ่านไปสามเดือน
การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเสร็จสิ้นลงในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดย หลังการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่าย 7 พรรค ที่อ้างตัวเป็นฝั่งประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส. 136 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง เศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง เพื่อชาติ 5 ที่นั่ง และ พลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง มีเสียงรวมกันทั้งหมด 246 ที่นั่ง
และอีกฝ่ายคือ ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ส. 116 ที่นั่ง ร่วมกับพรรคร่วมอื่น คือ ประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง ประชาชนปฏิรูป พลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ ไทยศรีวิไลย์ พลังไทยรักไทย ครูไทยเพื่อประชาชน ประชานิยม ประชาธรรมไทย พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ และพลังธรรมใหม่ พรรคละ 1 ที่นั่ง ทำให้มี ส.ส. ทั้งหมด 254 ที่นั่ง
ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าประชุม 497 คน (ยกเว้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนห้ามปฏิบัติหน้าที่เพราะมีคดีคั่งค้าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออก และ ส.ส.อีกหนึ่งรายที่ลาป่วย) และ วุฒิสมาชิก 250 คน โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้วยคะแนนเสียง 500 เสียง
ในขณะที่นายธนาธร ที่ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้คะแนนเสียง 244 คะแนน โดยประธานรัฐสภาและรองประธาน และ สส.พรรคภูมิใจไทย งดออกเสียงรวมสามราย ส่งผลให้ พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดี แม้ได้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 25 วัน และ ได้เลือกตั้งเสร็จสิ้นมาแล้วกว่า 3 เดือน แต่พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งภายในพรรค และความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ในประเด็นเรื่องการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรี
ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งไม่ได้ระบุ หรือกำหนดว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลเมื่อใด หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ดังนั้น รัฐบาล คสช.จะยังคงบริหารประเทศต่อไป และ มาตรา 44 ก็ยังคงมีอยู่ จนกว่าจะมีการประกาศการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ในประเด็นนี้ นายอนุชา นาคาศัย ส.ส. ชัยนาท จากกลุ่มสามมิตร พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ว่า ต้องการให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวแทนกลุ่มสามมิตรได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และไม่เห็นด้วยที่จะให้พรรคชาติพัฒนาได้ที่นั่งรัฐมนตรี เนื่องจากมี ส.ส. เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น
“การนำพรรคชาติพัฒนาที่มีเพียงสามคนมาร่วมรับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งแต่เดิมเป็นคู่แข่งทางการเมืองตอนเลือกตั้ง ซึ่งผมคิดว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง... เสมือนหนึ่งว่าพวกผม ไปรบจนชนะ พอกลับบ้านถูกแม่ทัพนำศัตรูที่ไปต่อสู้มาจนชนะมาตัดหัวพวกผมทิ้ง” นายอนุชา กล่าว
กลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอญัตติขับไล่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พรรคพลังประชารัฐออกจากตำแหน่ง ในที่ประชุมพรรควันอังคารนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง เนื่องจากเป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและของรัฐบาลเป็นอย่างสูง เพราะบริหารงานหลายเรื่องผิดพลาด เนื่องจากถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว ในเย็นวันจันทร์นี้ นายสนธิรัตน์ ได้ออกมากล่าวปฏิเสธถึงการมีส่วนเกี่ยวในการเลือกกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเพื่อทำงาน
"ผมขอแสดงเจตนารมณ์ไม่มีความประสงค์และไม่ขอรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหวังว่าทุกสิ่งจะคลี่คลายไปในทางที่ดี เพื่อพวกเราจะได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อบ้านเมืองต่อไป" นายสนธิรัตน์ กล่าว
ขณะที่ในวันนี้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนสร้างปัญหาเอง จากการสืบทอดอำนาจ และเขียนกติกาการเมือง
“มองไปที่ฐานจิตและวิธีคิดของท่าน น่าจะคันไม้คันมืออยากยึดอำนาจอีก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ถือว่าท่านยังเป็นบุคคลอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า ปัญหาในพรรคของท่าน เกิดจากท่านสร้างเอง เกิดจากการอยากสืบทอดอำนาจแล้วเขียนกติกา” นายสุทิน กล่าว
ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ทัศนะว่า การจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ได้ ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อพลเอกประยุทธ์ กลับจะยิ่งเอื้ออำนวยให้ คสช. ได้ใช้อำนาจต่อไปนานขึ้น เพราะ คสช. ไม่สิ้นสุดลง จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด
“ผมว่าจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ผลประโยชน์น่าจะลงตัว ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ในอนาคตอาจจะมีปัญหา แต่การจัดตั้งทำให้เห็นว่า ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความสามารถ แต่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ของพรรคเป็นหลัก ประโยชน์ของชาติไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เราจะเห็นการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคร่วมกันต่อไป คงไม่ถึงจุดที่แตกหักง่าย เพราะเขาทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ไปเรื่อยๆ เช่น การจัดสรรงบประมาณ” นายฐิติพล กล่าว