คสช.และพรรคการเมือง เห็นชอบเลือกตั้ง 24 กพ. 62
2018.12.07
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุมร่วมกับตัวแทนจาก 75 พรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดยทั้งหมดต่างเห็นชอบให้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้ง ขณะที่รองเลขาคณะกรรมการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่ามีผลบังคับใช้ต้นปีหน้าเพื่อการจัดการเลือกตั้งได้
การประชุมระหว่างคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และตัวแทนจากพรรคการเมือง อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พลังชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วม ขณะที่หลายพรรคการเมืองอย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง การปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม และรณรรงค์หาเสียงได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยตัวแทนพรรคการเมืองกล่าวว่า มีความพอใจในการชี้แจง และเห็นด้วยกับการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีหน้า
“ประเด็นสำคัญ คือ ที่ประชุมเห็นตรงกันถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562... ร่างพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทาง กกต. ได้นำเสนอแล้ว และครม. ก็ได้ให้ความเห็นชอบ ขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้” นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกกต. เปิดเผยภายหลังการประชุม
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวเพียงสั้นๆ หลังการประชุมว่า “การประชุมเรียบร้อยดี ทุกคนให้ความร่วมมือกันดี”
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมได้มีการชี้แจงโรดแมปเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยยืนยันว่ายังเป็นวันที่ 24 ก.พ. 62 และคาดว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน ปีหน้า
“ในวันอังคารนี้ (11 ธ.ค.) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ และ คสช.จะได้มีการประชุมกันเพื่อปลดล็อค ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ภายในเดือนธันวาคมนี้แน่นอน หลังจากนั้น กกต. จะได้ชี้แจงบางขั้นตอนที่พรรคการเมืองต้องนำไปปฏิบัติ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ระบุว่า คสช. จะออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งคสช. 9 ฉบับ เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการรณรงค์หาเสียง เนื่องจากใกล้กับเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีการฟ้องร้องกันได้ จนกว่าวันที่ 2 มกราคม ที่จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อนุญาตให้พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมหาเสียงได้
“ผมคิดว่า คสช. วันนี้เดินมาเกือบถึงปลายทางที่ได้วางโรดแมปไว้ เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนทางประชาธิปไตย... ทุกคนที่มาวันนี้มีความตั้งใจอยากให้การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้มีความสมบูรณ์ มีความพร้อมจากทุกภาคส่วนเพื่อทำให้ไม่มีข้อกังขา และเดินหน้าไปสู่ประเทศไทยที่พวกเราคาดหวังไว้” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
พลังประชารัฐเปิดทางประชาธิปัตย์ร่วมงาน
หลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีที่หากต้องร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปฏิเสธไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ตนพร้อมจะพูดคุยกับพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงกัน และทำงานร่วมกันได้ เพราะวันนี้โลกและประเทศไทย จะก้าวไปสู่ยุคใหม่คือ 4.0 จะไป 5 จี แล้ว เราควรทำเพื่อประเทศชาติไม่ย่ำอยู่ที่เดิม ในวันนี้ทุกพรรคพร้อมเลือกตั้งแล้ว ขอให้เสียงของประชาชนเป็นคนชี้
“ให้รอดู เพราะการทำงานร่วมกันต้องเกิดจากการหารือของทั้งสองฝ่าย รวมถึงนโยบาย และเมื่อเลือกตั้งแล้วประชาชนตัดสินว่าเป็นอย่างไรก็ต้องมาดูว่าจะคุยกัน” นายอุตตม กล่าว
กรณีที่มีการเรียกร้องให้นายอุตตม ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น นายอุตตม ยืนยันว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะลาออกเอง แต่วันนี้ยังมีภารกิจที่ต้องทำ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอยู่
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อสื่อมวลชน ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมการประชุมหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพรรคการเมือง ในวันศุกร์นี้ เพราะว่าพรรคประชารัฐที่ประกาศหนุน คสช. มีแนวทางไม่ตรงกับประชาธิปัตย์ โดยขณะที่พรรคตรงข้ามกับทหารได้ประกาศไม่ร่วมประชุมแล้วเช่นกัน