คสช. ปลดล็อคกิจกรรมทางการเมืองแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.12.11
กรุงเทพฯ
181211-TH-politics-1000.jpg กลุ่มผู้ต้องการการเลือกตั้งชุมนุมที่สกายวอล์ค หน้าเอ็มบีเค เพื่อรำลึกการรัฐประหารปี 2549 วันที่ 24 ตุลาคม 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ ปลดล็อคการทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ทำให้สามารถชุมนมทางการเมือง ประชุมพรรคการเมือง หาเสียงได้แล้ว

หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกกต. กล่าวว่าที่ประชุมเห็นตรงกันถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนร่างพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทาง กกต. ได้นำเสนอแล้ว และครม. ก็ได้ให้ความเห็นชอบ และ อยู่ระหว่างกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชน และพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งเริ่มกระทำได้แล้ว

“หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ยกเลิก… ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557.. เฉพาะในข้อ 2 .. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เฉพาะในข้อ 12” ตอนหนึ่งของ ราชกิจจานุเบกษา ระบุ

อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. ฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งซึ่งถูกยกเลิกทั้ง 9 ฉบับไปแล้ว และคำสั่งนี้ ยังได้ระบุว่านายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้มีการแก้ไขคำสั่งภายหลังได้

“การยกเลิกประกาศและคำสั่ง... ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้… ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้” คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ระบุ

ทั้งนี้ เนื้อหาโดยสรุปของคำสั่ง คือ การให้ยกเลิก คำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. และคำสั่ง หัวหน้า คสช. รวม 9 ฉบับ ประกอบด้วย

1. คำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เฉพาะ ข้อ 1 ที่ห้ามนายจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคไทยรักษาชาติ ทำธุรกรรมทางการเงิน 2. คำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 ที่ห้ามนายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน และจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ พรรคเพื่อไทย ทำธุรกรรมทางการเงิน 3. ประกาศ คสช. ที่ 39/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง

4. ประกาศ คสช. ที่ 40/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง 5. ประกาศ คสช. ที่ 57/2557 เฉพาะข้อ 2 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้ง ให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว 6. คำสั่ง คสช. ที่ 80/2557 ที่ห้ามแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. แกนนำพรรคประชาธิปตย์ และแกนนำ กปปส. รวมทั้งสิ้น 18 คน เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือทำกิจกรรมทางการเมือง

7. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เฉพาะข้อที่ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 8. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2561 เฉพาะข้อ 4, 5 และ 7 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และ 9.คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เฉพาะข้อ 6 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดำเนินการอันเป็นการหาเสืยงบนโลกออนไลน์ และให้ กกต. และ คสช. เป็นคนกำหนดลักษณะต้องห้ามของการสื่อสารบนโลกออนไลน์

หัวหน้าพรรคเกียน: ประยุทธ์พร้อมลงเล่นการเมือง

ต่อคำสั่งดังกล่าว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน ซึ่ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ทำให้เขาสามารถกลับมาทำธุรกรรมทางการเงินได้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า บัญชีธนาคารของตนเองสามารถใช้ได้หรือยัง และ คำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. พร้อมที่จะลงสนามการเลือกตั้ง

“ไม่ได้รับแจ้ง เป็นการส่วนตัวเรื่องคำสั่งยกเลิกดังกล่าว ยังไม่ได้เช็คกับธนาคารว่าใช้ได้หรือยัง… คำสั่งวันนี้ เป็นคำสั่งที่ทำให้เห็นว่าปี่กลองทางการเมืองชัดเจน มันไม่ใช่นัยยะการกลับสู่ประชาธิปไตย แต่มันแสดงว่าเขาพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนนึง เข้าไปเล่นในสนามการเลือกตั้ง เพราะเขาเป็นผู้เล่นด้วย” นายสมบัติ กล่าว

“มันมีภาวะผ่อนคลายลง แต่อำนาจเต็มของทหารในการแทรกแซงกลไกลต่างๆ ยังอยู่ครบ การควบคุมภรรยาและลูกนักจัดรายการวิทยุ(ลุงสนามหลวง-นายชูชีพ ชีวสุทธิ์) เมื่อ 3 วันก่อน มันยังมีแสดงให้เห็นอยู่ว่า เขายังคงควบคุมสถานการณ์ได้ ยังทำอะไรก็ได้” นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อ คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 แก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามทางการเมืองต่างๆ มีความสำคัญน้อยกว่า การยกเลิก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557

“การยกเลิกคำสั่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ควรจะยกเลิกตั้งนานแล้ว เป็นแค่การให้เสรีภาพทางการเมืองในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้า คสช. ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ ซึ่งสามารถใช้กับคู่แข่งทางการเมืองเท่ากับว่าไม่ได้ทำให้เกิดเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.ฐิติพล กล่าว

“คสช. ควรประกาศว่าจะไม่ใช้ มาตรา 44 หรือควรยุติบทบาททางการเมืองได้แล้ว ถ้าจะเข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม การที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ ก็ยังเป็นกลไกกั้นเสรีภาพ การยกเลิก มาตรา 44 สำคัญกว่าการแค่ยกเลิกคำสั่ง บางคำสั่ง” ดร.ฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง