จตุพร โดนจำคุก 1 ปี ฐานหมิ่นอดีตนายก อภิสิทธิ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.07.20
กรุงเทพฯ
TH-jatuporn-1000 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขณะแสดงความคิดเห็นในเวทีร่างสัญญาประชาคม ที่จัดขึ้นที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 วันที่ 17 ก.ค. 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (20 กรกฎาคม 2560) นี้ ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาฎีกาจำคุก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นเวลา 1 ปี ฐานกล่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งให้ทหารยิงประชาชนในเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงจนเสียชีวิต เมื่อปี 2552 และในวันเดียวกันศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้องแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) คดีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในปี 2551

ในคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 โดยคำพิพากษาระบุว่า นายจตุพรมีความผิดจริงตามฟ้องให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

“นายจตุพร จำเลยในฐานะแกนนำมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับโจทก์อย่างรุนแรง ก็ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด และวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนที่จะมีการกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะการปราศรัยของจำเลยในฐานะแกนนำดังกล่าว ย่อมเป็นข่าวออกไป และส่งผลกระทบต่อโจทก์ รวมทั้งสังคมอย่างกว้างขวาง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

ในคดีนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้องนายจตุพร เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 โดยระบุว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 นายจตุพรได้ปราศรัยใส่ความรัฐบาลของนายอภิสิทธ์ว่า เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม รวมทั้งกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน ซึ่งนายอภิสิทธิ์เชื่อว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ สร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง และทำให้เกิดการถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ให้ยกฟ้องนายจตุพร เนื่องจากเห็นว่าการปราศรัยของนายจตุพร เป็นการตอบโต้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การหมิ่นประมาท  ขณะที่ศาลชั้นอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2557 ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องนายจตุพร

คดีขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ – คดีเสื้อเหลืองประท้วงสมัคร

ในห้วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2552 นายจตุพร ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงหลายหมื่นคนเดินขบวนขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้บุกรุกสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จัดขึ้นในพัทยา จนต้องถูกยกเลิก แล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงวันสงกรานต์ ได้กลับมาเดินขบวนประท้วงในกรุงเทพ มีการพยายามทำร้ายนายอภิสิทธิ์ ที่เดินทางด้วยรถยนต์ไปยังกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 12 เมษายน มีการเผารถยนต์ ตามถนนในย่านใกล้เคียงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงถนนหลานหลวง โดยทางกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวอ้างว่าทหารได้ใช้อาวุธปืนยิงประชาชนเสียชีวิต 6 ราย

กลุ่มคนเสื้อแดงเผารถเมล์เพื่อสกัดทหารที่จะเข้าสลายการชุมนุมที่ย่านยมราช ใกล้ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 เมษายน 2552 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ หลังทราบคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับผลการตัดสินคดีนายจตุพรครั้งนี้ เนื่องจากในศาลชั้นต้น และอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยเชื่อว่าผลการพิพากษาครั้งนี้ จะกระทบจิตใจของกลุ่มผู้สนับสนุนนายจตุพร และอาจส่งผลถึงการปรองดองที่รัฐบาลพยายามดำเนินการ

“เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย น่าแปลกใจ ที่โทษไม่รอลงอาญา ถือว่ามีระดับหัวขบวนหลายคนที่โดนจับ อาจเห็นทิศทางว่าคนที่ยังอยู่อาจต้องตามไปอีกในคดีอื่นๆ ขณะที่กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ออกมาในแนวเดียวกัน เช่น กรณีมือปืนป๊อบคอร์น เชื่อว่าผลการตัดสินคดีการชุมนุมของพันธมิตรปี 51 จะแสดงให้เห็นว่าการตัดสินมันเสมอภาคหรือไม่” นายสมบัติกล่าว

“ผลคดีกระทบความรู้สึกพอสมควร แต่ต้องแยกการปรองดองออกจากผลคดีความของตัวบุคคล เพราะประเทศชาติย่อมสำคัญกว่า แต่ถามว่ารู้สึกทางจิตใจหรือไม่ เชื่อแน่ว่ารู้สึก” นายสมบัติระบุ

ในวันเดียวกัน ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2558 ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ (หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี) และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จากการรวมตัวกันต่อต้าน และขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีบุกรุกทำเนียบ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-6 คนละ 2 ปี อัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ยกฟ้องจำเลย 1-6

ส่วนนายไชยวัฒน์ นายอมร และนายเทิดภูมิ จำเลยที่ 7-9 นั้น ศาลเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่เห็นควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 7-9 ไว้ก่อนมีกำหนด 2 ปี

ในเรื่องการตัดสินสองคดีของคู่กรณีในวันนี้ นายสุทิน วรรณบวร นักสังเกตการทางการเมือง กล่าวว่า การตัดสินยกฟ้องพันธมิตรในวันนี้ เป็นไปตามกฏหมายเพราะคดีการยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อประท้วงนายสมัครของกลุ่มเสื้อเหลือง ในปี 2551 นั้น อัยการได้ฟ้องซ้อน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลได้ตัดสินรอการลงโทษจำเลยไปแล้วในคดีเดียวกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง