กรมฝนหลวงฯ ทำฝนเทียมล้างมลภาวะทางอากาศในกรุงเทพ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.01.15
กรุงเทพฯ
190115-TH-pollution-800.jpg ชาวกรุงเทพสวมหน้ากากกันมลพิษ ในระหว่างการเดินทาง วันที่ 15 มกราคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ส่งเครื่องบินทำฝนเทียมออกปฏิบัติการ เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นวันแรก หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้ออกประกาศว่าคุณภาพอากาศบริเวณริมถนน 18 พื้นที่ และพื้นที่ทั่วไป 11 พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่ นายกรัฐมนตรีให้รองนายกประชุมแก้ปัญหา ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าอากาศในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคุณภาพแย่ลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2561 จนอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ทำการติดตามและรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 ) รายวัน โดยในการเปิดเผยรายงานในวันนี้ ระบุว่า ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5  อยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่

กรมควบคุมมลพิษ ระบุสาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิด มลพิษจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ และการเผาขยะและวัชพืช

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กล่าวว่า ฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือแม้แต่โรคหัวใจวายได้ เพราะอนุภาคเล็ก ๆ สามารถผ่านจมูก แล้วซึมเข้าสู่ปอดและเส้นเลือดฝอยของมนุษย์ได้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในวันนี้ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มทำฝนเทียมเพื่อสลายมลพิษในกรุงเทพ เป็นวันแรก โดยดำเนินการทำฝนเทียมเหนือท้องฟ้าจังหวัดระยองเพื่อให้ตกลงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยองได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่บริเวณทิศตะวันออก อ.บางปะกง ถึงบริเวณทิศเหนือ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเครื่องบินคาซ่า 2 ลำ ใช้สารโซเดียมคลอไรด์รวม 2,000 กิโลกรัม พร้อมทั้งประสานไปยังการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปปฏิบัติการฝนหลวงให้ใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด” นายสุรสีห์ กล่าว

“ได้จัดตั้งวอร์รูม ขึ้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป เพื่อประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และกำชับให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำในการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งจะต้องไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ต้องการฝนในขณะนี้ด้วย” นายสุรสีห์ ระบุ ซึ่งในตอนบ่ายวันนี้ ได้มีฝนเทียมตกลงในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครแล้ว

ในวันนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์มลภาวะว่า สถานการณ์พีเอ็ม2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำวันที่ 15 มกราคม 2562 พื้นที่ริมถนนเกินค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. รวม 18 พื้นที่ และในพื้นที่ทั่วไป เกินค่ามาตรฐาน 11 พื้นที่ โดยรวมปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

สำหรับพื้นที่ริมถนนซึ่งมีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน ได้แก่  ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน  ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง  ริมถนนพญาไท เขตราชเทวี ริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร  ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน เป็นต้น ขณะที่พื้นที่ทั่วไป ได้แก่ เขตบางนา เขตดินแดง เขตบางซื่อ เขตสาทร และหลายพื้นที่ แม้กระทั่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ก็ถือว่ามีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานด้วยเช่นกัน รายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุ

นางสาวนิศานาถ ไทรทองคำ พนักงานบริษัท อายุ 32 ปี เปิดเผยว่า ตนรู้สึกได้ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพอากาศ แม้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชานเมืองระหว่างกรุงเทพฯ-นนทบุรี

“รู้สึกว่าอากาศแย่มาตั้งแต่ช่วงก่อนสิ้นปี ซึ่งปกติก็จะสังเกตด้วยสายตาและความรู้สึก อากาศมันดูเลวร้ายแบบที่เราหายใจไม่สะดวก ออกนอกบ้านก็น้ำมูกไหล ปกติมักจะป่วยเป็นหวัดช่วงหน้าร้อน ก็ป่วย 2 รอบติด ๆ กัน ระยะห่างไม่เกิน 10 วัน พักผ่อน กินยาตามสูตร ก็ไม่หายง่าย เหมือนเมื่อก่อน” นางสาวนิศานาถ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ขณะเดียวกัน นายดนุวัฒน์ ศรีไสว อายุ 33 ปี พนักงานธนาคารซึ่งอาศัยอยู่ในเขตดินแดง กล่าวว่า ตนเองเป็นภูมิแพ้ และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยหมอบอกว่ามีโพรงจมูกบวมมาก เยื่อบุจมูกอักเสบมาก ซึ่งหมอต้องให้กินยาเพิ่มเติม จากที่เดิมใช้เพียงยาพ่นจมูก

“รัฐควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมได้แล้ว ถ้ามองว่า ปัญหามีภาวะที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมีแผนแก้ปัญหาระยะยาว ถ้ารู้ว่ากรุงเทพฯ มันมีความเสี่ยง ต้องมีมาตรการแล้ว อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ประเทศเราราคาแพงกว่ารถปกติ แต่ต่างประเทศเขาถูกกว่า อะไรเป็นหลักคิดสำคัญ คุณเห็นสิ่งแวดล้อมสำคัญ หรือเก็บเงินภาษีสำคัญกว่ากัน” นายดนุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงเรื่องมลภาวะ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในจังหวัดลำปางว่า ตนได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมในวันที่ 16 ม.ค. นี้ เพื่อบูรณาการทุกฝ่ายในการหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืน

ด้านหน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพ ได้แจกหน้ากกากันมลพิษแก่ประชาชน แต่หน้ากาก N95 ที่มีคุณสมบัติกรองฝุ่นขนาดเล็กอากาศได้ดีกลับขาดแคลน นอกจากนั้น ยังได้มีการพ่นน้ำและทำความสะอาดถนน เพื่อชะล้างมลพิษอันเป็นการช่วยแก้ปัญหาอีกมาตรการหนึ่งด้วย

ฝุ่นพีเอ็ม2.5

ปัญหาคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาแล้ว โดยรายงานสถานการณ์พีเอ็ม2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 มีค่าเฉลี่ย 59-116 มคก./ลบม. ในพื้นที่ริมถนน และในพื้นที่ทั่วไปเฉลี่ย 61-102 มคก./ลบม. และยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง

กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิด มลพิษจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ และการเผาขยะและวัชพืช โดยฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทำให้ผู้ที่ได้รับมีอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก

ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศนี้ คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหายใจ ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งการป้องกัน คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศต่ำ หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่มลพิษให้ใช้หน้ากากปิดจมูกเพื่อป้องกัน และหากพบว่าร่างกายมีอากาศผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง