โปรดเกล้าฯ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ สมัยที่ 2
2019.06.11
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา
โดย นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อัญเชิญ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ร่วมในพิธี พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองร่วมเป็นเกียรติ จากนั้น นายสรศักดิ์ ได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ความว่า
"ประกาศ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงแต่งตั้งให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร"
จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดกรวยกระทง ถวายบังคม และถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและขอบคุณประชาชน พร้อมทั้งประกาศเดินทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก
“ผมขอยืนยันว่า จะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ จะเพียรพยายาม มุ่งมั่นทำงาน พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น ของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพ ทุกช่วงวัย ในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อประชาชน ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
“ทั้งนี้ เพื่อความกินดี อยู่ดี และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน พร้อมจะปกป้องรักษาไว้ ซึ่งเกียรติภูมิแห่งสถาบัน ชาติ ศาสนา ตลอดจนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
จากนั้น นายกฯ ได้ร่วมประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาล และตัวแทนพรรคการเมือง ในการวางบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี จำนวน 36 คน ซึ่งจะได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงปรมาภิไธย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าต้องมีคณะรัฐมนตรีภายในกี่วัน
ทั้งนี้ นายกฯ ต้องนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน หลังจากนั้นจึงจะได้เป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ก่อนเข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า ขณะนี้ตนและรัฐบาล (คสช.) ยังมีอำนาจหน้าที่ในการทำหน้าที่อยู่ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่และคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่
“ผมก็ไม่ได้อยากจะมีไว้ อันไหนที่ไม่จำเป็นก็ให้ฝ่ายกฎหมายเร่งรัดดำเนินการอยู่... ไม่ต้องกังวลนะครับ ทุกอย่างจะแล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่จะมีผลเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วเท่านั้น ช่วงนี้ ผมและรัฐบาลนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการทำหน้าที่อยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะต่อเบนาร์นิวส์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพบความยากลำบากในการทำหน้าที่กว่าสมัยแรก
“พลเอก ประยุทธ์ ไม่สามารถทำเหมือนเดิมได้ เพราะจะมีฝ่ายค้าน เขาไม่สามารถปัดหรือไม่ตอบได้เหมือนที่เคยทำในยุค คสช.” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์