พรรคร่วมรัฐบาลยังแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.06.07
กรุงเทพฯ
190607-TH-prayuth-800.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 6 มิถุนายน 2562
เอพี

ในวันศุกร์นี้ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การจัดตั้งรัฐบาล และวางตัวรัฐมนตรียังไม่ลงตัว โดยพรรคให้สิทธิ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นผู้ดูแลการจัดตั้ง

แม้ว่า เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) จะได้ออกเสียงเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแล้ว โดยเสียงส่วนมาก 500 เสียง เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่ 244 เสียงเลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาล

นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรี จากที่ได้เคยตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เอาไว้

“อาจจะมีการปรับปรุงเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ความขัดแย้ง เป็นสิทธิของพลเอกประยุทธ์ หากต้องการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าการทำงานร่วมกันต้องดูในหลายมิติ ความเหมาะสมของชื่อที่เสนอเข้ามา การทำงานในนโยบายภาพรวม และประสิทธิภาพในการทำงาน” นายพุฒิพงษ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะต่อเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะมีอายุสั้นกว่าวาระปกติ

“รัฐบาลในยุค คสช. กับรัฐบาลพลังประชารัฐ น่าจะมีความต่างกัน เพราะแตกต่างทั้งที่มา และองค์ประกอบอื่นๆ ในอดีตรัฐบาลเดิม ผู้นำอาจจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ เพราะจิ้มมาเอง แต่เทอมใหม่นี้ มาจากการต่อรอง อีกทั้งยังมีการอภิปรายต่างๆ น่าจะทำให้ทำอะไรไม่ง่ายเหมือนเทอมแรก ตอนนี้ เข้าสู่กลไกรัฐสภา เราเริ่มเห็นเค้าความวุ่นวาย จากกรณี ที่มีการออกข่าวว่า ประยุทธ์จะล้มข้อตกลงทั้งหมดที่ตกลงก่อนหน้านี้ อาจจะรื้อกันใหม่” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ใช้บุคลิกแบบเดียวกับที่เคยใช้ในช่วงที่เป็นหัวหน้า คสช. จะทำให้รัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ทำงานได้อย่างทุลักทุเล และจะมีอายุสั้น ไม่สามารถอยู่ได้ถึงสองปี อย่างไรก็ตามหาก รัฐบาลใหม่มีหน้าตาในลักษณะที่พรรคร่วมรัฐบาลยอมให้สิทธิตัดสินใจแก่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเต็มที่ อาจจะเป็นสัญญาณว่าเสถียรภาพของรัฐบาลก็น่าจะมากไปด้วย แต่ถ้ารัฐบาลใหม่สะท้อนถึงการแข็งข้อ อาจเป็นได้ว่า รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพมากนัก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาถึงรัฐสภา ในกรุงเทพฯ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 มิถุนายน 2562
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาถึงรัฐสภา ในกรุงเทพฯ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 มิถุนายน 2562
เอพี

ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกล่าว ยังลงตัว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การตกลงระหว่างพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ลงตัวแล้วคือ ประชาธิปัตย์ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญ

“มีข้อยุติแล้วระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ยังคิดว่าจะเป็นไปตามนั้น เพราะได้พูดคุยมาเป็นระยะเวลาที่พอสมควร และทุกอย่างจบแล้ว ลงตัวทั้งหมดแล้ว คิดว่าเมื่อกำหนดเป็นนโยบาย รัฐบาลก็น่าจะต้องปฏิบัติ หลักใหญ่คือเราคิดว่า เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญไปสู่การเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ได้ตกลงกันจบแล้วในเรื่องการร่วมรัฐบาล” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ หนึ่งวันก่อนการประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภายใน ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีการตกลง-ต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสามกระทรวง คือ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้ง รองอีกสี่

และเมื่อวันพฤหัสบดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคไม่ได้ต่อรองเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เชื่อว่า ตัวแทนของพรรคจะได้ทำงานในตำแหน่งที่มีความถนัด และตรงกับนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง

“ตอนนี้ ยังไม่มีใครบอกว่าจะมีอะไรเป็นอย่างอื่น แต่เราต้องการเข้ามาทำงาน ไม่ได้ต้องการมาต่อรองอะไร เราอยากเข้าไปทำงานในกระทรวงฯ ที่เรามีนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้ง และเราคิดว่าเราจะทำได้ในสิ่งที่เรามีฝีมือตรงนั้นให้ดีที่สุด ยอมแล้วบ้านเมืองไปได้ก็ยอมเถอะครับ” นายอนุทิน กล่าว

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลนั้น หลังจากที่รัฐสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพันธมิตรอีก 18 พรรค โดยทั้งหมดมี ส.ส. 255 คน ขณะที่ ฝ่ายค้านจะนำโดยพรรคเพื่อไทย ร่วมกับ อนาคตใหม่ และอื่นๆ รวมเจ็ดพรรค มี ส.ส. รวม 245 คน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อนุสรณ์ เชื่อว่าจะยังไม่มีการประท้วง หรือการเมืองบนท้องถนนในระยะเวลาอันใกล้นี้

“คิดว่า การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองนอกสภาจะยังไม่เกิดเร็วๆ นี้ เพราะยังไม่เห็นท่าทีต่อต้านจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านในสภาลักษณะนั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีปัจจัย หรือจุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ เช่น มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือ ตัดสิทธิคุณธนาธร เพราะตอนนี้ แม้จะมีเสียงต่อต้านในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่น่าจะมีการลงสู่ถนน” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง