อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล และผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยในวันศุกร์ (21 ส.ค. 2558) นี้ว่า คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย และ “กลุ่มผู้เห็นต่าง” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเจรจาที่ใช้ชื่อว่า สภาประชาชนปาตานี (MARA Patani) จะจัดให้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้ ในประเทศมาเลเซีย
อดีตแกนนำพูโลท่านหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในทีมประสานงานพูดคุยสันติสุข ได้กล่าวต่อเบนานิวส์ในวันนี้ว่า การพูดคุยสันติภาพ ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่สะดุดลงไปใน ปี 2556 ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นั้น ได้ถูกรื้อฟื้น โดยทางคณะผู้พูดคุยของรัฐบาลไทย จะมีกำหนดพบปะกับกลุ่มผู้เห็นต่างในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 25 สิงหาคม ศกนี้
“ล่าสุด มีกำหนดการร่วมประชุมระหว่าง คณะพลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข กับสมาชิกกลุ่มมาราปาตานี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 25 ส.ค. 2558 นี้” อดีตแกนนำพูโล ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าว
“จากนั้น ในวันที่ 27 ส.ค. 2558 สมาชิกมาราปาตานี จะเปิดโอกาสร่วมพูดคุยแบบโต๊ะกลมกับคณะสื่อจากประเทศไทย ทั้งที่ประจำอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ที่อยู่ส่วนกลางของกรุงเทพ ทั้งหมดรวม ประมาณ 10 คน” แหล่งข่าวท่านดังกล่าวได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“กำหนดการสำหรับสื่อไทย ที่เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้า ทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ห้ามพกมือถือกล้องถ่ายรูป รวมทั้ง ห้ามมีการบันทึกเสียง และรูปภาพใดๆ ในการประชุมสามารถนำสมุดและปากกา เพื่อจดข้อมูลได้ คาดว่าน่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง ส่วนช่วงบ่ายโมงกว่า ๆ สมาชิกขององค์กรมารา ปาตานี จะแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนมาเลเซีย รวมทั้งสื่อต่างประเทศ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย”
ที่มาขององค์กร MARA Patani หรือ สภาประชาชนปาตานี
สภาประชาชนปาตานี หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majlis-ash-Shura Patani) เป็นชื่อองค์กรร่วมที่ก่อตั้งขึ้นมา เป็นองค์กรร่วมในการเจรจา หลังจากที่ดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group—Peace Dialogue Process, JWG-PDP) ได้เป็นประธานประสานการประชุมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทย 6 กลุ่ม ในวันที่ 9-10 เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองหรือสามกลุ่มย่อย
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยเป็นครั้งที่สาม ในปีนี้ และองค์กรมาราปาตานี จะเป็นการเปิดตัว ให้กับสื่อมวลชนได้รู้จัก พร้อมทั้งจะได้แถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยในครั้งนี้สองวัน ในวันที่ 27 สิงหาคม นี้
“การพบปะของคณะพูดคุยไทยกับมาราปาตานี ครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยเรื่องของการประเมินสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามทำบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยก่อนหน้านี้” ผศ. ดร. ศรีสมภพ กล่าว
ขั้นตอนการพูดคุยสันติสุข
ในก่อนหน้านี้ พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุข ได้อธิบายขั้นตอนการสร้างสันติสุขแก่เบนาร์นิวส์ว่า แบ่งขั้นตอนการพูดคุยเป็นสามขั้นตอน คือ การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน สอง การตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่มีในทุก ๆด้าน ที่เห็นพ้องต้องกัน และ สาม ขั้นตอนการวางโร้ดแมป เพื่อทำการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ตามที่ได้ตกลงร่วมกันในขั้นตอนที่สอง
“หนึ่ง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ขั้นที่สอง คือ เรื่องของข้อตกลงร่วม ว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง.. มันต้องไปดูอีกทีนึงว่าปัญหาที่เราจะต้องร่วมแก้ไขนี่ มันใหญ่ระดับไหน มันต้องไปดูอีกทีนึง ทีนี้มันยังไม่ถึงขั้นนั้น เราเลยยังไม่แน่ใจว่า จะออกมาในรูปใด” พลตรีนักรบ ให้สัมภาษณ์แก่เบนานิวส์ในเดือนกรกฎาคม
“ขั้นที่สาม วางโร้ดแมปในแต่ละเรื่อง เช่น เราเห็นว่าเรื่องการศึกษา เกิดมีปัญหากับเขาอย่างนี้ เราต้องแก้อย่างนี้ เราก็จะแก้กัน เราก็จะเขียนเรื่องการศึกษาเป็นโร้ดแมปการศึกษา เรื่องสังคมวัฒนธรรมก็เป็นโร้ดแมปเรื่องสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครองมีไหม เราก็เขียนเป็นโร้ดแมปแต่ละเรื่อง”