สมาคมสื่อร้องยกเลิกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.05.03
กรุงเทพฯ
180513-TH-press-freedom-800.jpg ตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ด้วยคำขวัญ “ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน” วันที่ 3 พฤษภาคม 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ สมาคมสื่อมวลชนไทย 3 สมาคมหลัก ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลทหาร ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยสถิติของศูนย์ทนายฯ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ว่า สื่อยังคงถูกคุกคามโดยรัฐทั้งรายบุคคลและรายสำนักข่าว ตลอด 4 ปีที่ คสช. มีอำนาจ โดย กสทช. ควบคุมหรือลงโทษสื่อไปแล้ว 52 ครั้ง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ออกรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนโลก เดือนเมษายน 2561 โดยจัดให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนของไทยอยู่ในประเภทสถานการณ์ยากลำบาก ประเทศไทยได้คะแนนเป็นลำดับที่ 140 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมฯ ยังกระตุ้นให้ ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนรักษาจรรยาบรรณ และให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบและเฝ้าระวังข่าวปลอม

นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อสื่อมวลชน ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกว่า สถานการณ์การเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย ยังคงอยู่ในภาวะไม่ปกติ

“สถานการณ์เสรีภาพสื่ออยู่ในภาวะไม่ปกติ ยังอยู่ภายใต้คำสั่งของ คสช. หลายฉบับ เปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เข้าข่ายปิดกั้นลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสื่อมวลชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” นายปราเมศกล่าว

ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ที่ 97/2557 ให้สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอข่าวของ คสช. และห้ามนำเสนอข่าวที่เป็นภัยต่อความมั่นคง คำสั่ง คสช.ที่ 103/2557 ห้ามวิจารณ์การทำงานของ คสช. โดยเจตนาไม่สุจริต และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการปิดสื่อ หรือห้ามจำหน่ายหากเห็นว่าสื่อดังกล่าวสร้างความหวาดกลัว หรือกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งสมาคมสื่อมองว่า กฎหมายเหล่านี้สามารถตีความได้กว้างขวางเกินไป จนอาจลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน

ในวันนี้ สามสมาคมลื่อหลักๆ คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีข้อเรียกร้องโดยสรุปดังนี้

1. ให้รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระมัดระวังในการออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน 2. ให้ คสช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยปราศจากการครอบงำ 3. ให้ประชาชนระมัดระวังการเสพข่าวปลอม และช่วยกันเฝ้าระวัง และ 4. สื่อมวลชนต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และพร้อมที่จะรับการตรวจสอบ

ในวันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเสวนาเรื่อง “ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน” เพื่อพูดคุยหาทางออกให้กับการทำหน้าที่สื่อ ในยุคที่เสรีภาพถูกจำกัด ซึ่ง น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถิติของศูนย์ทนายฯ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) แสดงให้เห็นว่า สื่อยังคงถูกคุกคามโดยรัฐทั้งรายบุคคลและรายสำนักข่าว ตลอด 4 ปี ที่คสช. มีอำนาจ

“สื่อเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ พอรัฐประหารปุ๊บก็ถูกห้ามออกอากาศ ไอลอว์ เพิ่งเผยสถิติว่า ในระยะเวลา 4 ปี คสช. โดย กสทช. ควบคุมหรือลงโทษสื่อไปแล้ว 52 ครั้ง ที่ถูกลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ทีวี 19 ครั้ง รองลงมาก็คือพีซทีวี 12 ครั้ง” น.ส.พูนสุขกล่าว

“คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ถูกเรียกรายงานตัว และถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร หลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกก็ยังถูกเรียกเข้าค่ายทหารอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ปัจจุบัน ก็ยังเป็นผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี ม.116 จากการโพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ค นี่คือมีปัญหาที่ใช้คำสั่ง คสช. หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ”

ประวิตร เคยกล่าวกับเบนาร์นิวส์ ถึงวิธีการสู้คดีว่า เขามีกลยุทธ์ที่ง่ายมาก โดยจะต่อสู้ข้อกล่าวหาอย่างเปิดเผยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

"ผมจะไม่ต่อสู้อย่างเงียบ ๆ ผมจะใช้ประโยชน์มากที่สุดจากปัญหาหรือประสบการณ์ครั้งนี้ โดยจะถือว่า นี่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อเตือนให้ประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย"

"กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารมีอำนาจเด็ดขาด และเราไม่ได้กำลังถูกปกครองด้วยหลักนิติธรรม แต่ถูกปกครองภายใต้กฎหมาย ที่ผมคิดว่า รัฐบาลทหารจะเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ได้ ตามใจชอบ เรากำลังอยู่ภายใต้ระบบยุติธรรมและระบบการปกครองแบบตามอำเภอใจ นี่เป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้จริง ๆ และส่งผลต่อเรา" ประวิตร กล่าว

ขณะที่ น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อมวลชน และประชาชน ต้องช่วยกันตรวจสอบไม่ให้ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถูกนำมาใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในอนาคต หากมีผลบังคับใช้จริง

“ตลาด และกลไกตลาดของผู้เสพเองควรจะเป็นสิ่งที่บอกว่าสื่อควรจะเป็นอย่างไร ไม่ควรมีคนมาบอกซ้ายทีขวาที เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเสรีภาพสื่อจะเป็นปัญหาทันที... ไม่มีกฎหมายไซเบอร์ที่ไหนในโลก ขยายขอบเขตให้มันไปครอบคลุมในเรื่องของเนื้อหา อันนี้เราต้องช่วยกันระมัดระวัง ไม่งั้นเราจะได้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ออกมาถูกใช้อีกแบบนึง” น.ส.ฐิติรัตน์กล่าว

“พ.ร.บ.คอมฯ ตั้งแต่ต้น ไม่มีความตั้งใจที่จะใช้ในกรณีหมิ่นประมาทเลย แต่สิบปีกับอีกสองปีหลังจากที่แก้ไป ยังเห็นถูกใช้กับการหมิ่นประมาทตลอดเวลา ก็หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.คอมฯ จะไม่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ” น.ส.ฐิติรัตน์กล่าวเพิ่มเติม

จากการรวบรวมข้อมูลของไอลอว์ พบว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยยังคงถูกจำกัด และผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนยังถูกคุกคาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายความมั่นคงได้พยายามแจ้งความดำเนินคดีกับสื่อมวลชนหลายครั้ง เช่น กรณี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินคดีต่อเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ จากการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, กรณี บริษัท ทุ่งคำ ฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้บริหาร และผู้ประกาศข่าว กรณีรายงานเรื่องมลพิษในลำห้วยจากการทำเหมือง, กรณีนักข่าวจากสำนักข่าวอิศราถูกดำเนินคดีฐานบุกรก จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลหอพักภรรยา อดีตผบ.ตร. เป็นต้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง