กรมศิลปากร แจ้งความเอาผิดคนฝังหมุดคณะราษฎรใหม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.21
กรุงเทพฯ
200921-TH-protest-plaque-1000.jpg แกนนำผู้ประท้วง 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ทำพิธิฝังหมุดคณะราษฎร์ใหม่ ที่สนามหลวง วันที่ 20 กันยายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ตัวแทนกรมศิลปากร เข้าแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดผู้จัดกิจกรรม 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เหตุบุกรุกสนามหลวง และขุดเจาะฝัง “หมุดคณะราษฎรใหม่” โดยตำรวจระบุ กรมศิลปากรได้ถอนหมุดออกไปแล้ว ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมได้เข้าแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ สน.ชนะสงคราม

นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร เดินทางไปยัง สน.ชนะสงคราม ในช่วงเช้า เพื่อเป็นตัวแทนกรมศิลปากร แจ้งความเอาผิดกับแกนนำกิจกรรมชุมนุม เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ณ ท้องสนามหลวง

“ที่แจ้งความวันนี้ ที่ทางพนักงานสอบสวนทำไปก็จะเป็นเรื่องของ มาตรา 10 พ.ร.บ. โบราณสถานฯ เรื่องของการเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ขุดค้นในพื้นที่โบราณสถาน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษเป็นไปตามมาตรา 35 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสถาพร กล่าว

นายสถาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการทางกฎหมายจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมหลักฐาน เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเสียก่อน จึงจะสามารถระบุได้ว่า มีผู้กระทำผิดกี่คน และเป็นใครบ้าง

ขณะที่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะดำเนินการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และพบว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันจันทร์ หมุดดังกล่าวได้ถูกรื้อออกจากพื้นที่แล้ว

ผู้ชุมนุมกิจกรรม “19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร” ได้ฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ ลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้านตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นการทดแทนหมุดคณะราษฎรเดิม ที่หายไปจากลานหน้าพระราชวังดุสิต ในปี 2560 โดยหมุดใหม่ ระบุข้อความว่า “ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง เวลาย่ำรุ่ง 20 กันยายน 2563”

ทั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2520 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน สนามหลวง ซึ่งตั้งอยู่หน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 74 ไร่ 63 วา เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา

ด้าน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน หนึ่งในแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมฝังหมุดคณะราษฎรใหม่นี้ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การที่หมุดถูกถอนออกไปไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้จัดกิจกรรม

“ไม่เป็นไร ถอดออกได้ก็ปักใหม่ได้ ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย เพราะรู้อยู่เเล้วว่า หมุดต้องถูกถอดออก... หมุดไม่ได้ปักไว้แค่ที่พื้นสนามหลวง แต่มันปักไว้ในใจคน เดี๋ยวเราก็แจกแบบของหมุดเอาไปหล่อได้ ทุกคนสามารถเอาไปปักไว้ในที่สมควรได้ สำหรับตัวผมเองก็จะพาหมุดให้ปรากฏในที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเหมือนกัน” นายพริษฐ์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาการดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล จะได้รวบรวมหลักฐานและดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุม 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ต่อไปในอนาคต แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาในการดำเนินการ

“จะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลจำนวน 10 กว่าราย หลัก ๆ เป็นข้อหาในเรื่องของการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือว่าเป็นเรื่องของการกระทำอื่น ๆ ที่สืบเนื่อง ในส่วนของการบุกรุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากรก็ได้มีการดำเนินคดีในบางส่วนแล้ว”  พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

นอกจากนั้น พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังระบุว่า มีผู้นำการชุมนุมกระทำหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายอาญา ซึ่งผู้รักษากฎหมายต้องดำเนินการอย่างเต็มที่

“ประการสำคัญ ได้มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรต่อสถาบัน ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” พลตำรวจโทปิยะกล่าว

ด้าน พลตำรวจตรี สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ระบุในการแถลงข่าวอีกแห่งว่า ในเบื้องต้นพบผู้ที่เข้าข่าย 16 คน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานความผิดได้ชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว จึงจะออกหมายเรียกให้ผู้กระทำความผิดเข้ามารับทราบข้อหา

กลุ่มอนุรักษ์นิยมแจ้งความ ม. 112

ในวันเดียวกัน นพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้เดินทางไปที่ สน. ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความเอาผิดกับผู้ปราศรัยบนเวที 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนนักศึกษาที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 กันยา ที่ท้องสนามหลวง แล้วก็มีผู้ที่ปราศรัยบนเวที 3 ท่าน ที่มีการปราศรัยเข้าข่าย ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คนแรกเป็นคุณปนัสยา คนที่สองก็คือนายอานนท์ คนที่สามก็คือคุณพริษฐ์… คือ มีการกล่าวถึงใช้คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง พระมหากษัตริย์บ้าง บอกว่า พระมหากษัตริย์กระทำการไม่เหมาะสม ไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากของประชาชน แล้วก็บอกให้มาอยู่ใต้ประชาชน เป็นการกระทำที่ดูหมิ่น” นพ.ตุลย์ กล่าว

นพ. ตุลย์ ระบุว่า ที่จำเป็นต้องมาแจ้งความ เพราะไม่ต้องการให้การชุมนุมของประชาชนมีการล่วงละเมิด ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความเท็จ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ต้องการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้ปราศรัยต้องติดคุก และอยากให้ผู้ปราศรัยขอพระราชทานอภัยโทษในภายหลัง

ขณะเดียวกัน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้าแจ้งความที่ สน. ชนะสงคราม เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.พรรคไทยรักธรรม และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในข้อหาร่วมชุมนุมในสถานที่ห้ามชุมนุม โดยใช้หลักฐานเป็นภาพถ่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความเอาไว้

การชุมนุมของประชาชน นักเรียน และนักศึกษา เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา เริ่มเกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศ นับตั้งแต่มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่ง วันที่ 3 สิงหาคม และ 10 สิงหาคม 2563 ในการปราศรัยของการชุมนุมมีการระบุ ถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในการชุมนุมอีกหลายครั้งทั่วประเทศ กระทั่งมีการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาชื่อ 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ซึ่งก่อนยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อ ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเสนอ

24 กันยายนนี้ แกนนำการชุมนุม 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร นัดรวมตัวประชาชน

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 กันยายน 2563 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้นัดประชาชนเดินเท้าไปยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 1 แสนคน ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยจะเริ่มการเดินจาก สถานีเอ็มอาร์ทีเตาปูน ไปยังอาคารรัฐสภาในเวลา 13.00 น. ขณะที่แกนนำการชุมนุม 19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ได้นัดรวมตัวประชาชนในเวลา 16.00 น. วันที่ 24 กันยายน 2563 ที่อาคารรัฐสภาเช่นกัน

ปัจจุบัน มีการยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว 2  ร่าง คือ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 และร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งยื่นต่อนายชวน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ขณะที่ ร่างของพรรคก้าวไกล และประชาธิปัตย์ ซึ่งยื่นต่อนายชวน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ไม่เป็นผล เนื่องจาก 2 วัน ให้หลัง ส.ส. ที่ร่วมเสนอร่างได้ถอนรายชื่อออกจากญัตติดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง