ศาลถอนประกันทนายอานนท์ และไมค์ ระยอง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.03
กรุงเทพฯ
200903-TH-protester-bail-revoked-1000.jpg นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาที่ศาลอาญา รัชดา กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังศาลนัดไต่สวนพิจารณาการขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว วันที่ 3 กันยายน 2563
เอพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ผู้ต้องหาคดีร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เนื่องจาก ศาลเห็นว่าทั้งคู่กระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว อย่างไรก็ตามศาลไม่ห้ามทั้งคู่ยื่นประกันใหม่ แต่ทั้งสองคนปฏิเสธการประกันตัว จึงถูกพาตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ทันที

ศาลอาญา รัชดาภิเษก เริ่มพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ที่ขอให้เพิกถอนการประกันตัวนายอานนท์​ และนายภานุพงศ์ เมื่อเวลา 09.00 น. โดยมีการไต่สวนหลักฐานของทนายความฝ่ายนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ และพนักงานสอบสวน กระทั่งมีคำวินิจฉัยให้ถอนการประกันตัวทั้งคู่ ในช่วงเวลา 15.00 น.

“ผู้ร้องยื่นคำร้อง (ตำรวจ) ขอให้เพิกถอน การปล่อยตัวชั่วคราวนายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ  ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้นอีก ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 นายภาณุพงศ์ได้ไปร่วมชุมนุมและปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” จดหมายข่าวของศาลอาญา ตอนหนึ่งระบุถึงคำวินิจฉัยของศาล

“เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ อาชีพ และพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหาให้เพิกถอน การปล่อยชั่วคราว ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนหรือการดำเนินคดี สมควรให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาสักครั้งหนึ่ง โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีประกันในวงเงินเพิ่มเป็น 200,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันนับแต่วันนี้ หากผู้ต้องหาไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว และรับตัวไว้หมายขัง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ขณะที่ คดีของนายอานนท์ ศาลมิได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการประกัน

“ช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ได้ลงข้อความลงเว็บไซต์เฟซบุ๊กของตน เชิญชวนกลุ่มบุคคลให้มาร่วมชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ต้องหาเข้าร่วมปราศรัย และแจกหนังสือคำปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว… กรณีมีเหตุสมควร จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา และรับตัวไว้หมายขัง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลว่า คนทั้งคู่เลือกที่จะไม่ยื่นขอประกันตัวใหม่ ทำให้ต้องถูกนำตัวไปฝากขังทันที

“อานนท์บอกว่า วันนี้ตัดสินใจยังไม่ประกันตัว แต่ถ้าถามว่าเขาจะไม่ประกันตลอดไปหรือเปล่า ไม่รู้ เขาคงต้องอยู่ในเรือนจำ ตำรวจมีสิทธิ์ขังเขาไว้ 48 วัน นับแต่วันนี้ เพราะเป็นการขังโดยหมายศาลในคดีที่โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ในทุกวันที่มีการฝากขัง ทนายต้องมาคัดค้านการฝากขังทุก 12 วัน สำหรับไมค์ก็ไม่ขอประกัน” นายกฤษฎางค์ กล่าว

“ศาลเองเคยพูดกับผมว่า การขอปล่อยตัวชั่วคราวของอานนท์ ไมค์ หรือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) การกำหนดเงื่อนไขของศาลไม่สามารถไปจำกัดสิทธิทางการเมืองได้ ขัดรัฐธรรมนูญ พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถมีอะไรยืนยันได้ว่า การไปพูดที่ท่าแพ เชียงใหม่ (9 สิงหาคม 2563) ทำให้เกิดความวุ่นวายยังไง… เขา (อานนท์) พูดต่อหน้าศาลว่า เขาไม่เอาอิสรภาพของตัวเขาเองมาแลกกับประชาธิปไตย อิสรภาพของเขาสำคัญน้อยกว่า ความก้าวหน้าของสังคม ประชาธิปไตยของประเทศชาติ ฝากดูแลน้อง ๆ ที่เคลื่อนไหวด้วย” นายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหา ได้เขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังทราบคำวินิจฉัยของศาลเชิญชวนให้ทุกคนไปร่วมชุมนุมใหญ่ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน 2563

“ยินดีที่ได้ต่อสู้กับทุกคน เรามาไกล จงเดินต่ออย่างกล้าหาญ หน้าที่นอกคุกผมจบแล้ว ขอเดิมพันทั้งหมดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 19 กันยานี้ ช่วยยืนยันว่าเรามาถูกทาง เชื่อมั่นในทุก ๆ คน… ให้การขังผมในวันนี้ เป็นใบเสร็จของการคุกคามประชาชน 19 ก.ย. 63 ไปเอาคืน” นายอานนท์ ระบุ

ทั้งนี้ คดีของนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีกลุ่มประชาชนได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ประชาชนชุมนุมอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแต่งกายเลียนแบบตัวละครในภาพยนตร์เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ และมีการปราศรัยถึงการให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ร่วมปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมตัว โดยในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ นำภาและภานุพงศ์ จาดนอก ถูกจับตัวเป็นครั้งแรกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันถัดมา วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ถูกจับกุมตัวในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน

ต่อมาในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และผู้ปราศรัยรวม 9 ราย ถูกจับกุมตัวก่อนได้รับการประกันตัวในเวลาถัดมา โดยนายอานนท์ ถูกจับกุมจากข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ขณะที่ผู้ปราศรัยที่เหลือถูกจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กระทั่งในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกจับอีกครั้งในข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และผู้ต้องหารวม 15 คน ซึ่งถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้เดินทางไปรายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยมีการจัดกิจกรรมหน้า สน. มีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ โดยผู้ชุมนุมได้ใช้สีสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ กระทั่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ต้องหาจากการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถูกจับกุมตัว แต่ได้รับการประกันในภายหลัง

ถึงปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมแล้ว 14 คน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม แต่ได้รับประกันทั้งหมด โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง กระทั่งนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกถอนประกันในวันนี้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง