ตัวแทนฝ่ายค้านเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ต่อประธานสภา

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.08.17
กรุงเทพฯ
200817-TH-protest-1000.jpg ผู้ประท้วงชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประท้วงที่ถนนราชดำเนิน วันที่ 16 สิงหาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน นำตัวแทนฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางห้วงเวลาที่นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก ทำให้สถานการณ์แย่ลง

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เปิดเผยแก่สื่อมวลชน ที่อาคารรัฐสภาว่า ฝ่ายค้านมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีข้อบกพร่องจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งนี้ เนื่องจากไปตรวจสอบแล้วก็เห็นการดำเนินงานโดยใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีแต่ข้อบกพร่องมากมาย ฝ่ายค้านร่วมจึงได้เสนอญัตติต่อท่านประธานในวันนี้ โดยสาระสำคัญของญัตติ ที่ยื่นวันนี้นั้นก็คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งจะรวมในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้ ส.ส.ร. มาพิจารณาในเรื่องการดำเนินการในการร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มี ส.ส. พรรคฝ่ายค้านร่วมลงชื่อในญัตติมากกว่า 150 คน โดยประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเสรีรวมไทย โดยคาดว่าจะสามารถบรรจุญัตติดังกล่าวได้ทันสมัยประชุมนี้

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับญัตติดังกล่าวจากผู้นำฝ่ายค้านแล้ว โดยกล่าวแก่สื่อมวลชนว่า เมื่อรับญัตติดังกล่าวแล้วก็จะได้มีการตรวจสอบความถูกต้อง และบรรจุวาระภายใน 15 วัน

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวแก่สื่อมวลชนถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามกลางเมือง

“ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ในระบบที่มีอยู่นี้ จำเป็นที่จะต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 ก็คือ 84 คน ทั้งในวาระที่ 1 และในวาระที่ 3 เพราะฉะนั้นยังไงเสียจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไป อย่างไรก็ตามแต่จะตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ตั้ง ส.ส.ร. จะแก้อะไร ประเด็นอะไรยังไง จะชังพวกเรายังไงก็ตามแต่ ถ้าเผื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันเนี่ย ต้องการเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 84 คน” นายคำนูณ กล่าว

“ถ้าไม่เช่นนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะรายประเด็นหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ มันก็มีอีก 2 วิธีเท่านั้นแหละครับ ก็คือ 1. การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ยกเลิกแล้วก็ร่างกันใหม่ หรือ 2. เกิดการลุกขึ้นมาปฏิวัติของประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมว่าทั้งสองทาง มันมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยว่า ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา แล้วผมเชื่อมั่นว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคนพร้อมที่จะลงมติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน” นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติม

นายกฯ เชื่อการชุมนุม ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงาน ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ ที่อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ระบุว่า การชุมนุมของประชาชน และนักศึกษา โดยมีนักการเมืองร่วมทำให้สถานการณ์ในประเทศเลวร้ายลงเรื่อยๆ

“ไปดูสิใครอยู่เบื้องหลัง เห็นไหมมีใครเขาไปข้างในบ้าง พรรคอะไรบ้าง มันไม่ใช่หรอกไปอยู่อย่างนี้ ก็ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ผมถามนะ คนที่จะได้รับผลกระทบคือใคร เด็กใช่ไหม นักศึกษาใช่ไหม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในกระบวนการแล้ว

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายกฯ ระบุว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ

“ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องสู่ที่ประชุมสภาฯ ผ่านการประชามติ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการของกฎหมายประชามติให้รวดเร็ว ก็กำลังทำทุกอย่างให้ทั้งหมดนั่นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องจากในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีประชาชน นักเรียน และนักศึกษาร่วมกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งกิจกรรมเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางวัน ก่อนจะเสร็จสิ้นในช่วงประมาณ 22.30 น.

ก่อนยุติการชุมนุม นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำคณะประชาชนปลดแอก ได้แถลง 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประกอบด้วย 1. ต้องหยุดคุกคามประชาชน 2. ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ต้องยุบสภา ทั้งยังได้ประกาศ 2 จุดยืน คือ 1. ไม่เอาการรัฐประหาร และ 2. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และประกาศ 1 ความฝันคือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ด้าน นายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือว่าได้รับการตอบรับจากกระแสสังคมเป็นอย่างดี และมันถึงเวลาแล้วที่จะพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา ต้องรอดูว่า จะได้รับการตอบรับจากรัฐบาล หรือรัฐสภามากน้อยเพียงใด

“...คนทั้งสังคมจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เขารับฟัง มากไปกว่านั้น ประชาชน นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา เห็นว่ามันเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง จึงพูดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แม้แต่รัฐบาลเองก็ยังตอบรับว่า รับฟัง แต่ว่าการแก้ไขปัญหานี่มันต้องค่อยๆ แก้ไป ซึ่งส่วนนี้ ผมคิดว่ามันต้องเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหามันสามารถทำให้จบได้ภายใต้ระบอบรัฐสภาที่มี ส.ส. นี่แหละ ทำให้จบได้ในรุ่นเราแน่นอน” นายอานนท์ กล่าว

“...บันไดขั้นแรกที่จะแก้ปัญหาการเมืองได้ คือ เราต้องเอา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งออกไปทั้งหมดก่อน ซึ่งสามารถทำให้เสร็จภายในเดือนเดียวได้ คือ แก้ให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ในสามวาระรวด เอา ส.ว. ออก เอาอำนาจในการโหวตนายกฯ ออก แล้วก็ศึกษา ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภา แล้วให้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงเข้าไปบริหารประเทศ เราเชื่อว่าถ้าไม่มี ส.ว.ชุดนี้ จะทำให้การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว” นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส. เพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ ระบุว่า ฝ่ายค้านจะรับฟังความเห็นของคณะประชาชนปลดแอกด้วยเช่นกัน

“เรื่องความใฝ่ฝันของคณะประชาชนปลดแอกที่ชุมนุมกันนั้น ถือเป็นการเสนอความคิดทั่วไป ซึ่งยังไม่ได้เรียกร้องมายังสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการให้ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เราก็คิดว่า ทุกคนคงต้องรับฟัง แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กันไป” นายสุทิน กล่าว

ทั้งนี้ การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา เริ่มขึ้นครั้งแรก โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการชุมนุมครั้งแรกมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน ต่อมาเกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด และหลายสถานศึกษาทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน โดยในวันนี้มีการชุมนุมโดยนักเรียนที่จังหวัดขอนแก่นด้วย

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการชุมนุมครั้งใหญ่ที่นำโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก มวลชน เยาวชน นักศึกษา เข้าร่วมกว่าหนึ่งหมื่นคน ที่ทยอยมาตั้งแต่ช่วงสาย จนเนืองแน่นเต็มถนน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปตลอดถนนราชดำเนิน ถึงสี่แยกคอกวัว การชุมนุมได้ดำเนินไปอย่างสงบ จนยุติในช่วงดึก

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการจัดการชุมนุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ ห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเด็ดขาด โดยเปิดโอกาสให้เยาวชน คนหนุ่มสาวได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินเลยกรอบของกฎหมาย และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น

นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ประกันตัวออกมาแล้ว เมื่อวันเสาร์

ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ได้ยื่นประกันตัว ในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นรายงาน ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่า ผิดสัญญาประกันตัว มีโทษปรับ 100,000 บาท ทั้งนี้ นายพริษฐ์กล่าวว่า ได้เปลี่ยนใจจากที่จะไม่ยื่นประกันตัว แต่เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย ในระหว่างถูกคุมขัง

 

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง