ชาวประมงเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานประมง C188
2018.08.01
ปัตตานีและกรุงเทพ

ในวันพุธนี้ ชาวประมงพาณิชย์ใน 22 จังหวัดชายฝั่งทั่วประเทศนับพันราย ได้ชุมนุมในแต่ละจังหวัดเพื่อแสดงการคัดค้านการที่รัฐบาลจะลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานในภาคการประมง ฉบับที่ C188 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ พร้อมทั้งขู่ว่าจะยุติออกหาปลาในสัปดาห์หน้า หากไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจจากรัฐบาล
ที่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายชิต ศรีกล่ำ รองนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยผู้ประกอบการเรือประมง นายจ้าง และลูกเรือประมงกว่า 400 คน ได้มาชุมนุมคัดค้านรัฐบาลที่จะให้สัตยาบันในอนุสัญญา Convention Concerning Work in the Fishing Sector ที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประกาศใช้เมื่อปลายปี 2560 ที่ไทยได้ลงนามไปแล้ว ซึ่งนายชิต คาดว่ารัฐบาลจะประกาศให้สัตยาบันในราชกิจจานุเบกษาให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561
นายชิต และตัวแทนชาวประมง ได้ส่งหนังประท้วงไปผ่านทางทนายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ได้ออกมารับมอบหนังสือร้องเรียนที่หน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งนายชิต กล่าวว่า สิ่งที่อนุสัญญาฯ ทำให้เกิดปัญหา คือ การกำหนดให้เรือที่มีขนาดยาว 24 เมตรขึ้นไป ต้องมีห้องน้ำและห้องนอนนั้น ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ
"ในอนุสัญญา C188 ก็คือ เรือความยาว 24 เมตร จะต้องมีการทำห้องน้ำและห้องนอนในอัตราส่วน ลูกเรือประมง 4 คน ต้องมีห้องน้ำ 1 ห้อง และห้องนอน 1 ห้อง ซึ่งทางประมงไทยรับไม่ได้ ถ้าหากทำแบบนี้ จะต้องมีการต่อเติมเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือไม้ ก็จะทำให้เรือจมได้" นายชิต กล่าวอธิบาย
นายชิต กล่าวว่า ข้อบังคับลักษณะนี้ ใช้กับเรือต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ราว 500 ตัน ซึ่งในต่างประเทศสามารถบังคับใช้ได้ เพราะเรือเหล่านั้นใช้เครื่องมือทุ่นแรงและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในการจับปลา ซึ่งใช้คนงานไม่มาก แต่ประมงไทยใช้ลูกเรือประมงเป็นหลัก
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไม่เข้าใจอนุสัญญาอย่างชัดเจน เพราะอนุสัญญาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องแรงงานอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงเรื่องโครงสร้างของเรือต่างๆ ที่จะต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับอนุสัญญาด้วย เช่น ที่พักและห้องน้ำ
“เรือประมงบ้านเราเป็นเรือขนาดเล็ก ถ้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างจะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงก็คือ เรือประมงไม่สามารถทำการประมงได้ จึงคัดค้านในเรื่องนี้ ถ้าอนุสัญญาผ่าน จะไม่มีเรือประมงผ่านสักลำ” นายมงคลกล่าว
ทั้งนี้ ชาวประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เรือประมงที่มีความยาว 24 เมตร จะมีระวางขับน้ำประมาณ 60 ตันกรอส ซึ่งปกติ จะมีพื้นที่ให้ลูกเรือ รวมทั้งไต้ก๋งเรือ นอนหลับได้โดยไม่ลำบากนักอยู่แล้ว และเรือออกห่างจากฝั่งไม่ไกลเกินไป เพียงราว 30 ไมล์ทะเล
นอกจากนี้ ชาวประมงในจังหวัดชายทะเลจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา ระนอง และในกรุงเทพ ต่างได้ชุมนุมประท้วงและยื่นหนังสือต่อทางจังหวัดเช่นกัน
"มีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือ หากไม่ได้รับการแก้ไข ทางชาวประมงทั่วประเทศ จะนัดกันหยุดเรือประมง ในวันที่ 8 สิงหาคม และจะล่ารายชื่อจังหวัดละ 1 หมื่นคน เพื่อยื่นฎีกาขอแก้กฎหมาย” นายชิต ศรีกล่ำ รองนายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวว่า ตนเองไม่ยินยอมตามคำขู่ที่ว่าชุมนุมใหญ่ในวันพุธนี้ และการจะหยุดทำการประมง
“ที่บอกขู่จะหยุดทำการประมงเพื่อประท้วงรัฐบาล และจะยื่นถวายฎีกา ผมว่าไม่ต้องไปขยายความ เขาขู่รัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการกำกับดูแลในการบริหารต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามกระบวนการ” พลเอกประยุทธ์กล่าว
“แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาล ก็ฟังความต้องการทำความเข้าใจกันว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ สิ่งที่เขาเสนอขึ้นมาว่า วันที่ 1 ส.ค.จะยื่นหนังสือร้องเรียน และอีก 7 วัน ขอคำตอบ ผมก็รับเรื่องนี้ไว้และนำสู่การพิจารณา” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม โดยไม่ได้กล่าวถึงตัวอนุสัญญาฯ
ในวันนี้ เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่ออธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกของศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อขอข้อมูลหรือความคิดเห็นในเรื่องอนุสัญญาฯ ได้
เรือประมงพาณิชย์จอดตายนับพันลำ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีเรือประมงพาณิชย์ในประเทศไทย ประมาณ 10,600 ลำ ที่ได้รับใบอนุญาต มีเรือที่จอดอยู่โดนล็อคอยู่ 800 กว่าลำ เพราะไม่ผ่านการขอใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามฐานข้อมูลเดิมของกรมเจ้าท่า ในช่วงเริ่มการแก้ปัญหาไอยูยู มีเรือประมงจดทะเบียนกว่า 42,000 ลำ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ล้าหลัง
“ตอนนี้ เรือประมงขาดแคลนแรงงาน มีเรือ 1,000 ถึง 2,000 ลำ จะจอดกันแล้วจะจมหมด แล้วคาดว่าในอนาคตอีกไม่เกิน 3 เดือน เรือจะจอดอีก 3,000 ลำ เพราะแรงงานไม่พอใช้ เพราะ พ.ร.ก.ประมง ยังรุนแรง ก็ไม่มีใครกล้าเอาแรงงานผิดกฎหมายลงเรือ” นายมงคลกล่าว
ส่วนในปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองประมงที่สำคัญนั้น นายกฤษณ์พสุ เจริญ เจ้าของเรือและกรรมการประมงสมาคมปัตตานี ผู้ซึ่งเคยโนนายรัฐมนตรีตะโกนใส่ผ่านไมโครโฟน กล่าวว่า มีเรือประมงพานิชย์ปัตตานี ประมาณ 1,000 ลำ ต้องจอดแล้ว 400 ลำ เพราะทนเรื่องแรงงานเรื่องข้อกฏหมายต่างๆ ไม่ไหว
“ในจำนวนนี้ มีที่บอกขายเรือ 543 ลำ ต่อไปเรือประมงปัตตานี จะเหลือไม่ถึง10 เปอร์เซ็นต์" นายกฤษณ์พสุ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"ฉันจอดเรือมาแล้ว 6 เดือน เพราะไม่มีลูกน้อง เรือออกไม่ได้ เขาให้ทำเอ็มโอยูกับต่างประเทศ ขอแรงงานมาค่าใช้จ่ายสูงมาก ตกคนหนึ่ง 5 หมื่นบาท และไม่รู้ว่ามาแล้วจะอยู่กับเรานานแค่ไหน แถมค่าจ้างขั้นต่ำต้องจ่าย ราวๆ 15,000 บาท ก็เลยจอดเรือไปก่อน" นางอารี เลิศลักษณ์ศรีกุล ซึ่งเป็นเจ้าของเรือประมงขนาด 92 ตันกรอสส์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ตอนนี้ เดือดร้อนจนไม่รู้จะบอกแล้ว จอดเรืออยู่เฉยๆ ดีกว่า ครั้งนี้ จอดเรือครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี เพราะไม่ไหวจริงๆ สวัสดิการและค่าคุ้มครองแรงงานเยอะมากเหมือนกับว่า เราต้องเลี้ยงลูกชาวบ้าน ส่วนลูกตัวเองอด”