กลุ่มราษฎรชุมนุมร้องปฏิรูปทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน้าไทยพาณิชย์ สนญ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.11.25
กรุงเทพฯ
201125-TH-protest-monarchy-1000.jpg กลุ่มประชาชนในนามคณะราษฎรรวมตัวชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก เรียกร้องปฏิรูปทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ กลุ่มประชาชนในนามคณะราษฎรรวมตัวชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก เรียกร้องปฏิรูปทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พร้อมย้ำข้อเรียกร้องเดิมสามข้อคือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หนึ่งวันหลังจากที่ตำรวจนครบาลได้ออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มประท้วง 12 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การชุมนุมในวันนี้ แต่เดิมผู้ชุมนุมต้องการไปรวมตัวกันที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยเจ้าหน้าที่ได้พยายามปิดกั้นเส้นทางเข้าออกมีการวางตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนาม และปักป้ายสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นเขตพระราชฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนมานัดหมายที่อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกว่า 799 ล้านหุ้น หรือ 23.53 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมด จากข้อมูลในเว็บไซต์ธนาคารฯ การชุมนุมวันนี้มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน มีการปิดถนนบางช่องจราจร มีการตั้งร้านค้าขายของ แสดงดนตรี ติดป้ายประท้วง และตั้งรถแทนเวทีปราศรัย

นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร กล่าวในการปราศรัยว่า เดิมหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เดิม กลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยในปีเดียวกันได้มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์จากสำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์(ในขณะนั้น) ทำให้อาจเกิดความสับสนทางกฎหมายมรดก

“วันนี้มีทรัพย์จำนวนมากที่โอนเป็นของตัวเองมีปัญหาทางกฎหมาย เดิมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของราชวงศ์ ทำไมถึงไม่แบ่งให้ลูกหลาน ร.5 คนอื่นด้วย ทำไมไม่แบ่งพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ไม่แบ่งฮิวโก้ (จุลจักร จักรพงษ์) ทำไมไม่แบ่งสุขุมพันธุ์ (บริพัตร)... ที่พูดก็เพราะอยากให้ในหลวงคนต่อไปมีวังอยู่ ถ้าในหลวงทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้คนใดขึ้นมา เราจะไม่เหลือทรัพย์เป็นสาธารณะ แล้วถ้าโอนไปหมดในหลวงคนใหม่จะเอาวังไหนอยู่” นายอานนท์ กล่าว

“เราจะเอาทรัพย์สินของประชาชนกลับมาทางรัฐสภา... เราจะส่งต่อทรัพย์สินให้กับรัฐบาลของพวกเราให้ดูแล และทรัพย์สินจะไม่สูญหายแน่นอน นี่เป็นเสี้ยวของ 10 ข้อที่เราออกมาเรียกร้องเท่านั้น” นายอานนท์ ระบุ

ด้าน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

“เราต้องการที่เรียกร้องให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เดิมต้องเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นส่วนกลางที่องค์พระมหากษัตริย์พระองค์ไหนจะขึ้นมาครองราชย์ ก็จะมีส่วนในทรัพย์สินส่วนนี้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตอนนี้ทรัพย์สินส่วนนี้ โดยเฉพาะหุ้นไทยพาณิชย์ก็ได้ถูกโอนไปเป็นชื่อขององค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เลยเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อไปจะได้รับอะไร เมื่อทรัพย์สินถูกโอนเป็นส่วนบุคคลไปเรียบร้อยแล้ว” น.ส.ภัสราวลี ระบุ

ประชาชนในนามคณะราษฎรได้จัดการชุมนุมทางการเมืองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันโดย มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

การชุมนุมของคณะราษฎรหลายครั้ง นำไปสู่การสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ และใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อเหลืองในฐานะผู้ที่เห็นต่างจากคณะราษฎร และผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งสองกลุ่มได้จัดชุมนุมบริเวณใกล้รัฐสภา ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 ราย ในนั้นถูกยิงด้วยอาวุธปืน 6 ราย กระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม

ม. 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ถูกนำมาใช้อีก

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ได้ออกหมายเรียกแกนนำ 12 คนให้มารับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ ความผิดที่อาจเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริง โดยผู้ที่ถูกออกหมายเรียกประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายอานนท์, น.ส.ภัสราวลี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด, นายชูเกียรติ แสงวงศ์, นายสมบัติ ทองย้อย

ขณะที่ อีก 2 รายซึ่งถูกออกหมายเรียก คือ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวในวันอังคาร และนำไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี และในวันนี้ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเพื่อนำไปส่งยังสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ซึ่งทั้งสองคนถูก จับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการชุมนุม

ต่อการดำเนินคดีกับแกนนำ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ได้กล่าวปราศรัยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้ เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

“พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แล้ว มีพระราชกระแสว่า ใครนำมาตรา 112 มาใช้นั้นเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมโทรม นี่เป็นพระราชบัญญัติ รัชกาลที่ 9 ประยุทธ์อ้างจงรักภักดี ทำไมไม่ทำตามกระแสพระราชดำรัส นอกจากนี้แล้วในหลวงองค์ปัจจุบัน เสวยราชท่านได้มีลายพระหัตถ์ถึงอัยการสูงสุด ถึงประธานศาลฎีกาให้ยุติใช้มาตรา 112” นายสุลักษณ์ กล่าว

“ตอนนี้ประยุทธ์เอามาตรา 112 ออกมาใช้ เป็นการขัดพระราชโองการ เป็นการทำลายล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นการรังแกพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ประยุทธ์มีความชั่วร้ายมาก ประเด็นนี้ประเด็นเดียวเราต้องรวมกันถีบประยุทธ์ออกไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะร่วมกันถีบประยุทธ์ ให้มันพ้นอำนาจให้ได้ เพราะมันทำสิ่งที่ขัดต่อรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10” นายสุลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี น.ส.ภัสราวลี ชี้ว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จะไม่ทำให้การชุมนุมหยุด หรือล้มเลิก

“การใช้ ม.112 รัฐบาลควรต้องคิดให้ดี เพราะมาตรานี้ ไม่ถูกบังคับใช้นานแล้ว อยู่ ๆ ก็ถูกใช้ในการดำเนินคดีทางการเมือง เราอาจต้องถกเถียงว่า มันเหมาะสมกับบริบทของสังคม และโลกหรือไม่ แน่นอน ม.112 อาจจะดูโทษรุนแรง แต่การดำเนินคดีในทุกมาตรา แค่ทำให้เราเดินช้าลง แต่ไม่ทำให้เราหยุดเดิน ไม่ว่าจะดำเนินอีกกี่มาตราก็ไม่ทำให้เราหยุดเรียกร้องประชาธิปไตยแน่นอน” มายด์ ระบุ

การชุมนุมวันนี้เริ่มต้นในเวลาประมาณ 15.00 น. โดยรวบดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อย ไม่มีการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม กระทั่งในเวลาประมาณ 21.00 น. นายพริษฐ์ ในฐานะแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม และนัดชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563

ต่อมาเวลา 22.10 หลังยุติการชุมนุม ได้มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น บริเวณใกล้ที่ชุมนุม 1 ครั้ง ตามมาด้วยเสียงคล้ายปืนอีก 4-5 ครั้ง ที่บริเวณแยกรัชโยธิน หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบ มีการ์ดฝ่ายคณะราษฎร ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 ราย โดยรายหนึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลพระราม 9 ขณะที่อีกรายถูกนำส่งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ผู้ชุมนุมสามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้ 1 ราย นำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากถือหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว ในหลวงยังถือหุ้นในบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน), หรือบริษัท ดอยคำ จำกัด เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย ให้หน่วยงานการ 9 แห่ง และสถาบันการศึกษา 12 แห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ รวมเนื้อที่กว่า 4.8 พันไร่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง