แกนนำนศ. ย้ำเดินหน้าชุมนุม แม้มธ. ไม่อนุญาต

คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2020.09.10
กรุงเทพฯ
200910-TH-protest-1000.jpg นายภานุพงศ์ จาดนอก (ซ้าย) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำนักศึกษา หลังพูดกับผู้สื่อข่าวถึงแผนการชุมนุม วันที่ 19 กย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ภาพวันที่ 9 กันยายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงการณ์ไม่อนุญาตให้นักศึกษา “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” จัดกิจกรรมเพื่อประท้วงรัฐบาล ตามที่ทางกลุ่มกำหนดไว้ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายนนี้ โดยจะใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ทางกลุ่มคาดว่าจะมีผู้ร่วมเข้าชุมนุมหลายหมื่นคน

เนื้อความในแถลงการณ์ กล่าวว่า “การขออนุญาตดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามประกาศ เรื่องแนวทางอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ฉบับลงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดแนวทางเพื่อใช้กับการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาทุกกลุ่ม ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบ ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างตามระบอบประชาธิปไตย โดยควบคู่กับการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักศึกษา”

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ แกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยืนยันเดินหน้าจัดชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการขออนุญาตที่ถูกต้อง อาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง และจะใช้ชื่องานในวันดังกล่าวว่า ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’

“ท่านมีอำนาจอะไรในการสร้างเงื่อนไขให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในการที่จะชุมนุม และตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 เขางดเว้นในเรื่องของสถานศึกษา ที่สามารถชุมนุมได้” นายภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

และนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิและหนึ่งในผู้ร่วมปราศรัยการชุมนุมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน

"วันที่ 19 กันยายนนี้ 70,000 ขึ้น หรือ ไม่เกิน 70,000 ครับ"

กลุ่มนักศึกษา ได้เริ่มการประท้วง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยได้ตั้งเงื่อนไขเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เลิกการคุกคามผู้ประท้วง ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในระหว่างการอภิปรายเรื่อง “รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ในสภาฯ ในวันพุธที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ ได้ปฏิเสธที่จะลาออกตามคำเรียกร้อง

“ในเรื่องของคำว่าเผด็จการ ผมฟังตลอดมา คือเผด็จการทหารมันมีคำคู่กันอยู่คำหนึ่ง คงไม่ลืมมั้ง เผด็จการรัฐสภามีไหมครับ... มีนะผมว่า ไม่รู้สมัยใครเหมือนกันนะ... ในเรื่องของวันนี้ ท่านแนะนำให้ผมลาออก โอเค ถึงเวลาผมก็บริหารของผมเอง ดีที่ท่านไม่แนะนำให้ผมหนีคดี ผมคงไม่หนีอะนะ ท่านก็เล่นงานผมมาเยอะพอสมควร ผมไม่ทะเลาะกับท่าน เคารพใน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน” พลเอกประยุทธ์กล่าว

นับตั้งแต่เริ่มการประท้วงจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ประท้วงอย่างน้อย 29 ราย

สหรัฐฯ ยืนยัน ไม่มีส่วนสนับสนุนการประท้วง

ในวันนี้ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อชี้แจงถึงกรณีที่เว็บไซต์แห่งหนึ่งเปิดเผยข้อมูลที่บิดเบือน พร้อมกับรูปถ่ายของ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทยคนก่อน และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทางสถานทูตฯ ระบุว่า เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ของสถานทูตพบปะกับคนไทยจากหลากหลายแห่ง ทั้งนักเรียนนักศึกษา รัฐบาล ทหาร นักธุรกิจ และผู้นำหลายท่าน ซึ่งการพบปะแต่ละครั้งนั้น ไม่มีเจตนาในการเลือกข้างหรือแบ่งฝ่ายใด ๆ

“ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนด้านการเงิน หรือด้านอื่น ๆ ในการประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในฐานะมิตรของประเทศไทย เราขอให้กำลังใจทุกฝ่ายว่าจะสามารถทำงานร่วมกันด้วยความเคารพในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

ที่ผ่านมาข้อมูลที่มักจะถูกอ้าง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มเยาวชนที่จัดการชุมนุมนั้นมีต้นทางมาจาก เว็บไซต์ที่ใช้ชื่อว่า แลนด์ เดสทรอยเออร์ ซึ่งเผยแพร่บทความต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ดำเนินการโดย ผู้ที่อ้างว่าเป็นนักวิเคราะห์อิสระชาวอเมริกัน ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชีย และอาศัยอยู่ในประเทศไทย

ซึ่งผู้ดำเนินการเว็บไซต์นี้ มักจะให้ข้อมูลการเชื่อมโยงขององค์กรผู้ให้ทุนจากสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ผ่านมา โดยบุคคลดังกล่าว มักจะถูกรู้จักในกลุ่มคนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ โดยเชื่อว่า เป็นนักค้นคว้าวิจัยทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะถูกตั้งข้อสงสัยในตัวตนที่แท้จริง โดยบุคคลรายนี้เคยให้ความเห็นทางการเมือง โจมตีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และระบอบทักษิณ มาเป็นระยะเวลาเกือบทศวรรษ นอกจากนี้ ยังพบว่า สำนักข่าวหลายแห่งเคยนำบทความของเขา เพื่อไปใช้อ้างอิง และแปลบทความเพื่อเผยแพร่ ชี้ให้เห็นว่ามีสื่อมวลชนในไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข้อมูลจากเขา

ขณะที่ Thailand Vision ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กได้เผยแพร่แผนผัง ‘เจาะลึกความเชื่อมโยงกลุ่มเคลื่อนไหวปลดแอกไทยและกลุ่มทุนต่างชาติ’ พบว่ามีหลายองค์กรในประเทศไทยที่ถูกพาดพิงว่า ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรให้ทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นองค์กรจากประเทศสหรัฐอเมริกาทั้ง Open Society Foundation (OSF) และ National Endowment for Democracy (NED) พาดพิงถึงองค์กรในประเทศไทยหลายองค์กร อาทิ โครงการ Café Democracy ของร้านหนังสือ Book Re:public ศูนย์ข้อมูลประชาธิปไตย ของสำนักงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หรือแม้แต่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และอีกหลายองค์กร โดยองค์กรเหล่านี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน

นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในแผนผังว่า ได้รับทุนจาก NED ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมา TCIJ ได้รับทุนเป็นจำนวน 3 ปี และเป็นการต่อสัญญาปีต่อปี โดยประเด็นที่ทำงานอยู่นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ NED สนใจ นั่นคือ เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม สุชาดายืนยันว่า TCIJ ไม่เคยได้รับการขอร้องหรือแทรกแซงการทำงานจาก NED เลย พร้อมเห็นว่าแผนผังและข้อมูลดังกล่าวในถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลานี้นั้น เป็นความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มประชาชนปลดแอก

“ทุก ๆ ครั้งที่สถานการณ์ทางการเมืองคุกรุ่น ก็มักจะมีข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกมาเสมอ โดยที่ผู้เผยแพร่นั้นก็ไม่ได้สนใจว่าเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่นั้นเป็นข้อมูลเท็จหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น TCIJ ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก NED มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และผู้เผยแพร่ก็ไม่ใช่จะไม่รู้ข้อมูลนี้ แต่มันสามารถลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุม และขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความจริงอีกชุดหนึ่งให้กับผู้ติดตามของตัวเอง” สุชาดากล่าว

ขณะที่ นางสาวรจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Café Democracy ซึ่งได้รับทุนจาก NED เผยเช่นเดียวกันว่า Café democracy ได้รับทุนจากองค์กรในสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปี แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ในลักษณะที่มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการรับเงินมาเพื่อทำลายชาติ

“เหมือนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา พยายามที่จะนำข้อมูลเก่า ๆ ที่ไม่ถูกต้อง มาใช้ซ้ำ เพื่อลดพลังการเคลื่อนไหวของเยาวชน หนำซ้ำยังเป็นเรื่องประหลาดมากที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยก็ใช้ข้อมูลชุดนี้ รวมถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ของ นักวิเคราะห์อิสระ ชาวอเมริกันที่กล่าวก่อนหน้านั้น ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง จึงไม่ห่วงว่าโครงการของเราจะถูกข้อครหาหรือไม่ หรือเราทำอะไรก็รู้อยู่แก่ใจ แต่เป็นห่วงเยาวชนที่ถูกลดความน่าเชื่อถือมากกว่า” รจเรขกล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง