กลุ่มนศ.และเยาวชนกว่าสองพันคน ประท้วงไล่นายกฯ-ให้ยุบสภา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.07.20
กรุงเทพฯ
200720-TH-protest-students-1000.jpg นักศึกษา และประชาชน รวมตัวกันประท้วงขับไล่รัฐบาล ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน วันที่ 18 กรกฎาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นักวิชาการชี้ รัฐบาลควรฟังกลุ่มนักศึกษาในนาม “เยาวชนปลดแอก” และประชาชนกว่าพันคน ที่ชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการ และความสองมาตรฐานในระบบการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล

การชุมนุมของประชาชนในวันเสาร์เริ่มขึ้นในเวลา 17.00 น. บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน ท่ามกลางการเฝ้าระวังสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่าร้อยนาย กิจกรรมระหว่างการชุมนุมประกอบด้วยการปราศรัยของแกนนำนักศึกษา รวมถึงประชาชน การชูป้ายข้อความขับไล่รัฐบาล การร้องเพลง และการตะโกนโห่ร้อง การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสันติ แต่ก็ที่มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะๆ กระทั่งการชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 00.00 น. ของวันอาทิตย์ แกนนำนักศึกษาจึงประกาศหยุดการชุมนุม

นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ประธานกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้แถลงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 3 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ หยุดคุกคามประชาชน และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประกาศว่า หากรัฐบาลไม่ตอบรับข้อเรียกร้องจะมีการยกระดับการชุมนุม

“ต้องยุบสภา รัฐบาลสืบทอดอำนาจภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19.. หยุดคุกคามประชาชน.. การคุกคามและยัดข้อหายังดำเนินต่อไป การคุกคามทั้งทางกายภาพและทางกริยา แทบจะไม่ต่างจากสมัยที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่.. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ.. หากไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล ต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ เราจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป” นายทัตเทพ ระบุ

ในการชุมนุม มีการชูป้ายระบุข้อความ เช่น “ยุบสภาทางออกประเทศ ประยุทธ์ออกไป”, “ไม่ถอยไม่ทน เพราะกูทนมา 6 ปีกว่าแล้ว”, “ต้องการรัฐธรรมนูญจากประชาชน หยุดมรดก คสช.” เป็นต้น ทั้งนี้ ในการชุมนุมมีการรณรงค์เกี่ยวกับการบังคับสูญหาย และการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาลด้วย

นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และอุบลราชธานี ก็มีการชุมนุมเรียกร้องใน 3 ข้อเรียกร้องเดียวกับที่กรุงเทพฯ โดยจังหวัดเชียงใหม่เริ่มกิจกรรมเวลา 17.00 น. บริเวณประตูท่าแพ มีประชาชนเข้าร่วมหลายร้อยคน ขณะที่ในเวลาเดียวกัน หน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ประชาชนกว่าร้อยคนได้ร่วมปราศรัยวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาล และเรียกร้องการยุบสภาเช่นกัน

และช่วงเย็นวันจันทร์นี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองหลายสิบรายได้จัดการชุมนุมกลุ่มย่อย และปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และกองทัพไทย บนเวทีด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) และมีการฉีกภาพ พล.อ.อภิรัชต์ ทั้งให้กองทัพออกมายืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและเสียชีวิตของเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ลี้ภัย ในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกล่าวย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ระบุในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลฉีกรูปพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ระหว่างการประท้วง หน้ากองทัพบก กรุงเทพฯ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563
นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลฉีกรูปพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ระหว่างการประท้วง หน้ากองทัพบก กรุงเทพฯ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563
(รอยเตอร์)

นักวิชาการชี้ รัฐควรฟังผู้ประท้วง

ในวันจันทร์นี้ นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การชุมนุมของประชาชนเกิดจากความอัดอั้นที่มีต่อระบบการบริหารของรัฐบาล นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 และรัฐบาลควรพิจารณาข้อติติง

“มันเป็นความรู้สึกที่มันมีมานานแล้ว มีมาตลอด ตั้งแต่รัฐประหาร กลุ่มวัยรุ่น ก็แสดงออกว่าไม่ได้อยากให้รัฐบาลอยู่ต่อ รัฐบาลก็ควรที่ต้องพิจารณา แรงจูงใจหลักน่าจะทั้งเรื่องโควิด ทั้งเศรษฐกิจ หรือบุคคลสูญหาย ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต รัฐบาลก็ควรมีความชัดเจนในการคุ้มครองชีวิตพลเมือง เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักๆ ที่ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว”

“อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมากนัก เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือหลายอย่าง ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก การเคลื่อนไหวเป็นการแสดงออก แต่ไม่น่าจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ากลุ่มธุรกิจยังได้ประโยชน์จากรัฐบาล ก็ยากที่จะสนับสนุนนักศึกษาให้การชุมนุมเกิดวงกว้างมากขึ้น” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความผิดพลาดในการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการชุมนุมของประชาชนและนักศึกษา

“ในขณะที่บอกให้ประชาชนอยู่ภายใต้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ในส่วนของรัฐบาลเอง คนของรัฐบาล หรือแขกต่าง ๆ กลับมีอภิสิทธิ์และไม่เคร่งครัด มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอหน้า เกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดกรณีของระยองขึ้นมา ปฏิกริยานี้ ไม่เป็นที่น่าประทับใจเท่าไหร่” นายอนุสรณ์ กล่าว

“กรณีขัดขวางกระทำการรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ กรณีที่เยาวชนสองคนไปชูป้ายประท้วงที่ระยอง เรื่องการจัดการปัญหามันสั่งสมมานาน การอุ้มนักศึกษาเป็นการกระทำที่อุกอาจ ทำให้เกิดการปะทุ เราเห็นถึงความคุกรุ่นของคนในสังคมที่มีต่อรัฐบาล และเริ่มลุกลามไปเชียงใหม่ อุบลฯ เดี๋ยวมีที่มหาสารคาม (22 กรกฎาคม 2563) คิดว่า รัฐบาลน่าจะต้องเตรียมรับมือ” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

รัฐควรให้สิทธิการประท้วงโดยสันติ

ส่วน นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ กล่าวว่า นักเรียนควรได้รับอนุญาตให้ประท้วงได้

“ทางการไทยควรเคารพสิทธิของนักเคลื่อนไหว เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมประท้วงโดยสันติ และไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม พวกเขาไม่ควรถูกดำเนินคดี ในการประท้วงเมื่อวันเสาร์” ฟิล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผู้ประท้วงชูภาพของนักเคลื่อนไหวชาวไทยจำนวนมากที่หายตัวไป รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้คำตอบ ไม่ใช่เพื่อเพียงการแก้ตัวกับครอบครัวของเหล่านักเคลื่อนไหวที่สูญหายไป” เขากล่าว

กล่าวหารัฐบาลออนด้อยประสิทธิภาพ

นายภานุพงศ์ จาดนอก นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในกลุ่มผู้ซึ่งถูกควบคุมตัวจากการชูป้ายขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ความบกพร่องของรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19

“เราเคลื่อนไหวเพราะอยากให้นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกับความตกต่ำย่ำแย่ของประเทศที่เป็นอยู่ ให้ยุบสภา ให้คนมีความสามารถมาบริหารประเทศ ให้เกิดความยุติธรรม เหตุผลที่ออกมาช่วงนี้ เพราะล่าสุด รัฐบาลมีข้อบกพร่องที่ใหญ่หลวง ในเรื่องที่ปล่อยให้ทหารอิยิปต์เข้ามาในประเทศ ทำให้คนไทยที่ดูแลรักษาตัวเองจนรู้สึกปลอดภัย ต้องวิตกกังวลอีกครั้ง” นายภานุพงศ์ กล่าว

“ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับปากท้อง ประชาชนทุกคนต้องกินต้องใช้ตลอดเวลา พอมันเกิดปัญหา เลยทำให้รู้ว่ารัฐบาลบริหารไม่ประสบความสำเร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ที่รัฐบาลออกมาตรการ เป็นแค่นโยบายที่ออกมาแล้วไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่รัฐบาลพูด มันเลยทำให้คนที่อัดอั้นตันใจต้องออกมา รวมถึงคนที่ประสบปัญหาจริง ๆ ก็ต้องออกมา” นายภานุพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประชาชนทนไม่ไหวกับการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ประกาศยุบสภา

“เหตุผลที่ต้องออกมาวันเสาร์ เพื่อเรียกร้องให้ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน เพราะการคุกคามประชาชนเกิดเหตุทั่วประเทศ เช่น ระยอง หรือจังหวัดขอนแก่น ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มองว่า การบริหารราชการแผ่นดินของประยุทธ์นี่ มันไม่ไหวแล้ว ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยยุบสภา” นายอานนท์ กล่าว

การชุมนุมของประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นับตั้งแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอชา” เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งประชาชนและนักศึกษาออกมาเรียกร้องขับไล่รัฐบาล ก่อนที่เดือนต่อมา พลเอกประยุทธ์ จะประกาศสภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาสู่การห้ามรวมตัว และทำกิจกรรมที่รวมคน รวมถึงการชุมนุม หลังจากนั้น จึงไม่มีการประท้วงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีก

รัฐมนตรีลาออกเพิ่ม อีกสองกระทรวง

ในวันจันทร์นี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกันกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเปิดทางให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนหน้านี้ 3 รัฐมนตรีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ และรองนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง