ตำรวจจับอานนท์รอบสอง จากการปราศรัย 3 สิงหา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.08.19
กรุงเทพฯ
200819-TH-protest-arrested-1000.jpg นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำประท้วงต่อต้านรัฐบาล ล่าสุดถูกตำรวจควบคุมตัวนอกศาลอาญา ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 สิงหาคม 2563
รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล 11:00 a.m. ET 2020-08-20

ในวันพุธนี้ เจ้าหน้าตำรวจได้ทำการจับกุมแกนนำและนักเคลื่อนไหวผู้ร่วมชุมนุม 4 ราย โดยรายแรก เจ้าหน้าตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้จับกุมตัวนายอานนท์ นำภา ตามความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอื่น ๆ จากการขึ้นเวทีปราศรัยขับไล่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เวทีราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยพนักงานสอบสวนไม่อนุมัติการประกันตัว และจะนำตัวทนายไปส่งตัวขออำนาจฝากขังศาลอาญาในวันพฤหัสบดี ต่อมาช่วงค่ำ มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มอีกสามราย

และในวันเดียวกันนี้ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ศาลธัญบุรี ได้อนุมัติหมายจับนายอานนท์ และผู้นำการประท้วงในเวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นี้ อีก 5 ราย ในข้อหาเดียวกันอีกด้วย

ทั้งนี้ นายอานนท์ โดนหมายจับตามคดีในความผิดลักษณะเดียวกันที่เกิดในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และถูกจับกุมตัว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 7-8 เดือนสิงหาคมนี้

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของทนายอานนท์ ซึ่งได้ไปดูแลนายอานนท์ ที่ สน.ชนะสงคราม ในตอนค่ำ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ว่า นายอานนท์ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวตามหมายจับของ สน.ชนะสงคราม จากการขึ้นเวทีปราศัย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมนี้

“ทนายอานนท์ถูกจับที่ศาลอาญา ตามหมายจับตามเหตุ วันที่ 3 สิงหาคม ในการปราศรัย ข้อหายุยงปลุกปั่น ทนายอานนท์ให้การปฎิเสธอยู่แล้ว... เรายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 1.5 แสนบาท และใช้ตำแหน่ง ส.ส. รังสิมันต์ โรม ซึ่งมีมูลค่า 6 แสนบาท แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุมัติ ด้วยว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนี และจะคุมตัวไว้ที่ สน.ชนะสงคราม พรุ่งนี้จะนำตัวทนายไปส่งตัวขออำนาจฝากขังศาลอาญา” นายกฤษฎางค์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ติดตามความคืบหน้าที่ สน.ชนะสงคราม จนเกือบเที่ยงคืน

“เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิด 4 ข้อหา ได้แก่ ยุยงปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย, ชุนนุมโดยขัด พรก.ฉุกเฉิน, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางการจราจร” นายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ก่อนถูกจับในวันนี้ นายอานนท์ ซึ่งเป็นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ว่าความให้ลูกความที่ศาลอาญา ได้กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า มีชายชายฉกรรจ์หลายคนมารอควบคุมตนเอง ที่หน้าศาล โดยไม่แสดงสังกัดใด ๆ

โดย นายอานนท์ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถึงเวลาแล้วที่จะพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา

“...คนทั้งสังคมจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เขารับฟัง มากไปกว่านั้น ประชาชน นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา เห็นว่ามันเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง จึงพูดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ที่จะพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แม้แต่รัฐบาลเองก็ยังตอบรับว่า รับฟัง แต่ว่าการแก้ไขปัญหานี่มันต้องค่อยๆ แก้ไป ซึ่งส่วนนี้ ผมคิดว่ามันต้องเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหามันสามารถทำให้จบได้ภายใต้ระบอบรัฐสภาที่มี ส.ส. นี่แหละ ทำให้จบได้ในรุ่นเราแน่นอน” นายอานนท์ กล่าว

นับตั้งแต่การเริ่มประท้วง ที่มีมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม นี้ หลายกรรมหลายวาระ และนายอานนท์ได้พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นี้ ได้มีแกนนำประท้วงที่ถูกจับในข้อหาลักษณะเดียวกันแล้ว 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก ในฐานความผิดจากการร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นี้ ซึ่งทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ เช่นเดียวกัน และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และล่าสุด นายอานนท์ได้ถูกจับในวันนี้

ประชาชนยืนอ่านคำปราศรัย วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ของนายอานนท์ นำภา ที่หน้า สน.ชนะสงคราม ระหว่างรอการปล่อยตัว วันที่ 19 สิงหาคม 2563
ประชาชนยืนอ่านคำปราศรัย วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ของนายอานนท์ นำภา ที่หน้า สน.ชนะสงคราม ระหว่างรอการปล่อยตัว วันที่ 19 สิงหาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ผู้ร่วมชุมนุมปราศรัย อีก 3 คน ถูกตำรวจจับกุมวันพุธ ฐานร่วมชุมนุม 18 กค.

ต่อมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ออกแถลงการณ์ระบุว่า มีนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมอีก 3 คน คือ บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการ สมัชชาคนจน นางสุวรรณา ตาลเหล็ก จากขบวนการเพื่อประชาธิปไตย 24 มิถุนายน และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยทั้งสามได้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ ในฐานความผิดการปลุกปั่น และข้อหาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับของ นายอานนท์

“คำสัญญาซ้ำ ๆ ของรัฐบาลไทยว่า จะรับฟังเสียงจากผู้มีความเห็นต่าง ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีความหมาย เพราะการปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ “เจ้าหน้าที่ควรยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวอานนท์ และนักเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ
ทันที

จนถึงปัจจุบัน มีแกนนำและผู้ร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 10 รายแล้ว ที่ถูกออกหมายจับ และ/หรือถูกจับกุม ในฐานความผิดของการชุมนุม นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นมา

ศาลธัญบุรีออกหมายจับอานนท์ และแกนนำประท้วงเวทีธรรมศาสตร์ 6 คน

ในวันเดียวกันนี้ พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ศาลธัญบุรีได้ออกหมายจับบุคคลที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดจากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง แล้ว รวม 6 คน

“หมายออกแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2563 แล้ว 6 คน แกนนำชุมนุมที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต” พล.ต.ต.ชยุต กล่าวทางโทรศัพท์

พล.ต.ต.ชยุต กล่าวว่า รายชื่อ 6 คน ประกอบด้วย 1. น.ส.ปนัสยา 2. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง 3. นายอานนท์ นำภา 4. นายณัฐชนน ไพโรจน์ 5. นายธนวัฒน์ จันผลึก หรือ ลูกมาร์ค (พิธีกร) และ 6. นายสิทธิ์นนท์ ทรงศิริ หรือ ไฟช้อน (พิธีกร)

โดยทั้งหมดถูกต้องข้อหา 1. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 2. ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา 3. ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งให้โรคติดต่อ อันตราย หรือโรคระบาดแพร่ออกไป, ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และ 4. ร่วมกันทำการโฆษณาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้าน น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งอ่าน 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บนเวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ หลังทราบว่าศาลจังหวัดธัญบุรีได้ออกหมายจับ 6 แกนนำการชุมนุม รวมถึงตนเองว่า จะไม่เดินทางไปมอบตัว โดยหากตำรวจอยากจับกุมตัวให้มาจับได้เลย

“ถ้าจะจับก็มาจับเราจะไม่หนี แต่เราจะไม่ไปมอบตัวเอง มันไม่มีความชอบธรรม เราไม่ยอมรับ ถ้าอยากจับก็มาจับเลย เรายืนยันว่าเราทำในหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เป็นหลักสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ หลังจากนี้ก็จะต่อสู้ตามกระบวนการต่อไป” น.ส.ปนัสยา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนต่างประเทศที่ถามเรื่องการรับฟังคำเรียกร้องของนักศึกษา รวมทั้งเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า

“ในเรื่องของสถาบันนั้น พวกคุณต้องเข้าใจว่าสถาบันฯ กับประเทศไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ตอบในประเด็นนี้ เพราะผมเองก็ไม่เคยก้าวล่วงต่างประเทศ ไม่เคยสนับสนุนการเมืองต่างชาติที่มาเคลื่อนไหวในประเทศไทยแล้วไปต่อต้านประเทศอื่น... ผมต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุล” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

“แม้แต่นักเรียนนักศึกษา ผมก็รับรู้ทุกข้อเรียกร้องของพวกเขา ขอร้องอย่างเดียวไม่อยากให้มาแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเคารพนับถือ”

นักเรียนประท้วง รมว. ศึกษา

ในวันเดียวกันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนจากหลายโรงเรียนกว่า 300 คน ร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนในโรงเรียน ยกเลิกการทารุณนักเรียนโดยครู และยกเลิกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิของนักเรียน โดยระหว่างมีการชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ผูกโบว์สีขาว และเป่านกหวีด รวมถึงกล่าวปราศรัยถึงระบบการศึกษา และการบริหารงานของรัฐบาล

“ชาติจะไม่มีอนาคต ถ้าคุณไม่หยุดคุกคามอนาคตของชาติ… เลิกลงโทษนักเรียนตามอำเภอใจ พวกเราไม่ใช่ทาส พอนักเรียนพูดถึงปัญหาทุกอย่างที่มีในโรงเรียน ก็หาว่านักเรียนไม่รักโรงเรียน โรงเรียนเคยรักนักเรียนบ้างไหม พวกผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มาบอกว่านักเรียนยังเด็ก ต้องเจอเรื่องอีกมาก พวกเธอมายุ่งเรื่องการเมืองทำไม ถ้าผู้ใหญ่พาประเทศมาได้แค่นี้ ก็ปล่อยเถอะค่ะ ให้นักเรียน ให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำประเทศ” น.ส.พลอย (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จาก “กลุ่มนักเรียนเลว” กล่าวระหว่างการปราศรัย

ด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดินทางมาพูดคุยกับผู้ชุมนุม และถูกเป่านกหวีดไล่ กล่าวว่า พร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนผ่านโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อนำปัญหาต่าง ๆ มาปรับปรุงพัฒนาระบบการศึกษาของไทย

“ได้รับฟังความคิดเห็นจากน้อง ๆ มันเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย เป็นเรื่องดีที่น้อง ๆ ให้ความใส่ใจกับอนาคตของเขาเอง… สิ่งที่เขาเรียกร้องก็ไม่มีอะไรที่เกินความคาดหมาย และเราอยู่ในกระบวนการที่ทำอยู่แล้ว ภายในสองอาทิตย์ถ้าเราให้ทางสถานศึกษาต่าง ๆ ฟังข้อมูลผ่านกระบวนการกรรมการสถานศึกษา ให้เขายกประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษามาก็อาจจะได้ประเด็นอะไรที่เราคิดถึงอยู่แล้ว หรือยังไม่คิดถึง” นายณัฏฐพล กล่าว

ทั้งนี้การชุมนุมของนักเรียนที่หน้ากระทรวงศึกษาเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. และไปจบสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. มีการเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น ปฏิรูปการศึกษา เสรีภาพในการไว้ผม การใส่เครื่องแต่งกาย รวมถึงการแสดงออก หยุดการเหยียดเพศในโรงเรียน และการคุกคามนักเรียนที่แสดงสิทธิและเสรีภาพ โดยภาพรวมการชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย

* เพิ่มข้อมูล ผู้ร่วมชุมนุมอีก 2 ราย ถูกจับกุมในวันพุธ (ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมรวม 4 ราย)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง