นายกรัฐมนตรี 'ไม่สบายใจ' ต่อกลุ่มชุมนุมที่ธรรมศาสตร์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.08.11
กรุงเทพฯ
200811-TH-protest-prayuth-1000.jpg นายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต่อต้านรัฐบาล ขึ้นปราศรัยบนเวที ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันอังคารนี้ว่า ตนเองรู้สึกไม่สบายใจ ที่เมื่อวานนี้ได้มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ประมาณ 5,000 คน ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ได้ปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ย้ำว่า ผู้ที่ละเมิดจะถูกดำเนินคดีทุกคน

พลเอกประยุทธ์ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ภายหลังการเป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสา “ปันสุข ปลูกรัก” ที่สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตนเองได้ติดตามการถ่ายทอดสดงานการชุมนุม ที่จัดโดย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อคืนวานนี้ ซึ่งผู้ประท้วงได้กระทำการที่เกินเลย

“ผมเป็นนายกฯ ไม่ตามเหรอ ผมตามทุกเรื่อง ความคิดเห็นของผมเหรอ ก็การชุมนุมก็เป็นสิทธิ์ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมาก ๆ ผมถามสื่อ สื่อว่าไง ตอบสิ ตอบ ไม่กล้าตอบอีก” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

“ทำแบบนั้นมันเหมาะสมหรือไม่ มันเกินมาก ๆ แล้วจะทำยังไง กฎหมายอยู่ตรงไหน จะบอกว่า เอากฎหมายไปกดทับ ไม่ใช่... ถ้าละเมิดกฎหมาย มันก็ต้องถูกลงโทษกันทุกคน ไม่งั้นกฎหมายมันก็เสียหายสิ เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย เขาไม่ทำงานเขาก็ถูกฟ้องร้องละเว้นอีก แล้วมันจะอยู่กันยังไง ผมก็ขอร้องแค่นี้แหละ เพราะงั้นสถาบันต่างๆ ก็ต้องช่วยกันดูแล รับผิดชอบไปบ้าง” พลเอกประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติม

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงกลาโหมรายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้บันทึกการปราศรัยของบุคคลต่าง ๆ ไว้แล้ว ส่วนการดำเนินการใด ๆ ต่อไปนั้น หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะรอรับฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ในลำดับถัดไป

ในวันนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“จากกรณีเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนจัดการชุมนุมทางการเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงถึงสถานบันพระมหากษัตริย์ ทำให้กระทบความรู้สึกของประชาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” เนื้อความในแถลงการณ์ส่วนกล่าวและระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ อนุญาตให้พูดได้ถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภาและการขอให้รัฐยุติการคุกคามประชาชนเท่านั้น

นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนความผิดกับผู้ปราศรัย และดำเนินการต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้รายละเอียดไว้สามประการ

“1. การแสดงออกที่เกินกว่าขอบเขตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผู้ที่แสดงออก ซึ่งได้มีการตกลงระหว่างผู้จัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเด็นนี้ ก่อนการจัดชุมนุมแล้ว เรื่องกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อบุคคลที่ไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ โดยมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”

“2. สำหรับการแสดงออกของผู้ที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมนั้น มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามข้อเท็จจริง ภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย 3. มหาวิทยาลัยจะป้องกันให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และจะเคร่งครัดเรื่องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย และจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย”

ทั้งนี้ นอกจากการปราศรัยโจมตีรัฐบาลแล้ว ผู้ขึ้นปราศรัยบุคคลภายนอก รวมทั้งนายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และนักศึกษากว่าสิบราย ยังได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ยื่นข้อเสนอในการลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ 10 ข้ออีกด้วย เช่น ให้ยกเลิก มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น

นับตั้งแต่การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา ที่เริ่มขึ้นครั้งแรก โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในหลายจังหวัด และหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อหานายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก ผู้ปราศรัยบนเวที ที่เริ่มโดย กลุ่มเยาวชนปลดแอก (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น กลุ่มประชาชนปลดแอก) ในความผิดมาตรา 116, มาตรา 215 และ มาตรา 385 ของประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหารายอื่น ๆ ที่มีรายงานว่าอยู่ในข่ายกระทำความผิดอีกเกือบสามสิบราย

ในวันเดียวกันนี้ ตัวแทนครอบครัวและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เดินทางขอเข้าพบกับ นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยและสอบถามความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ทางเอกอัครราชทูตได้ปฏิเสธ ทางครอบครัวจึงได้ร่วมกันเป่าเค้ก เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 38 ปีของวันเฉลิม ที่หน้าสถานทูตด้วย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ร่วมรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง