ส.ว.สมชาย เสนอจังหวัดต่าง ๆ คุยสถานศึกษา หวังหยุดม็อบล้มสถาบัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.14
กรุงเทพฯ
200914-TH-protests-1000.jpg นายอานนท์ นำภา ขณะปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ประชุม ส.ว. ได้เสนอให้กระทรวงมหาดไทยเชิญผู้บริหารสถานศึกษามาพูดคุย เพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้นักศึกษาหรือนักเรียนชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผิดหวังที่ มธ. ไม่ให้นักศึกษาใช้สถานที่ชุมนุม ทั้งยังระบุว่า ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ส.ว. ได้ทำหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังการชุมนุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีการละเมิดกฎหมาย

“ผมได้หารือในที่ประชุมวุฒิสภา 3 ครั้ง หลังวันที่ 10 สิงหาคม 2563… ฝากไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้แจ้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีสถานศึกษา ให้ทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาว่า การชุมนุมที่นำไปสู่ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือที่มีบุคคลที่สามเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองทำไม่ได้ แต่ผมไม่เคยห้ามการชุมนุม ผมเห็นว่าข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญหรือร่างใหม่ทั้งฉบับสามารถทำได้ เรียกร้องให้ยุบสภา ก็น่าจะทำได้ ส่วนเรื่องหยุดคุกคามประชาชนก็สามารถทำได้ แต่ก็ยังไม่เห็นมีเยาวชนคนไหนมาเรียกร้อง ใน กมธ. สิทธิมนุษยชนฯ ของผม” นายสมชาย กล่าว

“ผมเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ สันติ สามารถทำได้ตราบใดที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. การชุมนุมฯ แต่อยากให้ทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาให้ระมัดระวัง และพร้อมที่จะรับผิดชอบทางกฎหมาย และอันตรายที่อาจเกิดจากมือที่สาม อาวุธสงคราม และโควิด ผมไม่อยากเห็นภาพการทำร้ายกัน มีผู้บาดเจ็บ และล้มตายอีก แค่เรียกร้องให้ระมัดระวัง และอยู่ในกติกา” นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติม

การเปิดเผยของ นายสมชายครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนหลายสำนักทั้งในและนอกประเทศเผยแพร่เอกสารราชการที่ระบุว่า นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ทำหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2563 เชิญให้ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เข้าประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการชุมนุม โดยอ้างว่า การเรียกประชุมครั้งดังกล่าว เป็นข้อเสนอของนายสมชาย

“ข้อน่ากังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมบางกลุ่ม ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาทิ การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น… เชิญเข้าร่วมเพื่อประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางรับมือ หากมีการชุมนุมของนิสิตและนักศึกษา รวมทั้งมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดจากการชุมนุมประท้วง” ตอนหนึ่งของเอกสารเชิญ เข้าประชุมในวันที่ 15 กันยายน 2563 ระบุ

การเรียกประชุมดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะจัดชุมนุมใหญ่ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งแม้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยชุมนุม เนื่องจาก กลุ่มผู้จัดไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมือง ตามที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศไปก่อนหน้า แต่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ก็ยืนยันว่า จะยังคงจัดชุมนุมตามกำหนดเดิม และจะพยายามเข้าไปใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้ได้

ด้าน นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เห็นว่า ข้อเสนอของ ส.ว. ที่ให้แต่ละจังหวัดเรียกผู้บริหารสถานศึกษาร่วมประชุม เพื่อหาทางรับมือการชุมนุม โดยชี้ว่า เป็นความพยายามแทรกแซงการชุมนุมของประชาชนโดยรัฐ

“เรื่องเรียกคุยผู้บริหารสถานศึกษา ถือเป็นการแทรกแซงของรัฐที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐพยายามจะทำให้สถาบันศึกษาอยู่ในกำกับควบคุม ให้เป็นไปในทางที่สอดรับ และไม่เกิดความกระด้างกระเดื่อง มีการแทรกเข้ามาจัดหลักสูตร เนื้อหารายวิชา หลักสูตรอบรมต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทางลบก็เจอการห้ามจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2557 การที่ธรรมศาสตร์ห้ามให้ใช้พื้นที่ชุมนุม ก็เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง” นายอนุสรณ์ กล่าว

“ข้อเสนอ 10 ข้อของผู้ชุมนุม ไม่มีตรงไหนนำไปสู่การล้มล้างสถาบัน มีแต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในครรลองที่ถูกต้องจะได้เชิดหน้าชูตาได้ไม่อายใคร มีนิติรัฐ นิติธรรม ในมีความสง่างาม ผมเห็นว่าข้อเรียกร้องไม่ได้เกินเลยข้อกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญใด ๆ… มหาวิทยาลัยควรเป็นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิดเห็นโดยสุจริต” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ร่วมปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมตัว โดยถึงปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมแล้ว 14 คน ตั้งแต่ได้รับประกันทั้งหมด โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง กระทั่งนายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกถอนประกัน จนต้องถูกคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง