ประยุทธ์ ไม่สนแร็ป “ประเทศกูมี” ปฏิเสธข้อกล่าวหาเผด็จการ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.10.29
กรุงเทพฯ
181029-TH-video-620.jpg ภาพจากหน้าคลิปบนยูทูบของช่อง Rap Against Dictatorship ที่ใช้ฉากเหมือนเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สลายนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2519
ภาพจากคลิปยูทูบของช่อง Rap Against Dictatorship

ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงเพลงประเทศกูมี ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการว่า ไม่สนใจเพลงดังกล่าว เพราะไม่ได้มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง พร้อมระบุว่าตนไม่ได้เป็นผู้นำเผด็จการ และขอประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองบิดเบือนข้อเท็จจริง ด้านตำรวจปอท. ระบุ ยังไม่มีการดำเนินคดีกับนักร้องกลุ่มดังกล่าว

หลังจากที่มิวสิควิดีโอเพลงแร็ปภาพขาวดำ “ประเทศกูมี” ยาว 5 นาที ของศิลปินแร็ปที่เรียกตัวเองว่า Rap Against Dictatorship (RAD)โพสต์ทางยูทูบ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ได้รับความนิยม มีผู้ชมใกล้ 21 ล้านครั้งแล้ว ในเช้ามืดวันอังคารตามเวลากรุงเทพ และขึ้นอันดับสูงสุดของ iTunes ในประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เสียดสีสังคมจนทำให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ในฐานะที่กำกับดูแลอาชญากรรมบนคอมพิวเตอร์เข้าไปตรวจสอบ  พร้อมระบุว่าเพลงนี้มีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่จะเข้าข่ายผิด พรบ.คอมพิวเตอร์

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้กล่าวกับประชาชนที่จังหวัดพะเยาว์ก่อนการประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรว่า ไม่สนใจเพลงนี้และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ผู้นำเผด็จการ

“เรื่องในเว็บไซต์ ในโซเชียล เปิดดูสิจากเพลงอะไรก็ไม่รู้ อย่าไปสนใจ ผมไม่สนใจ สนใจมันทำไม สนใจก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็คิดแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใช้วิจารณญาณว่าอย่างไร ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าเผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก... ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว หาผลประโยชน์เท่านั้น แต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น และนี่ผมคิดว่าผมทำมากกว่าด้วยซ้ำไป อย่าให้ใครเขามาบิดเบือน ฉะนั้นหากเราปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้ และนิยมชมชอบว่าเป็นสิทธิเสรีภาพโดยที่ไร้ขีดจำกัด วันหน้ามันจะเดือดร้อนกับท่าน ครอบครัวท่าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำด้วยว่า ประชาธิปไตยวันนี้ ไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนของรัฐบาล แต่ต้องเป็นของคนทุกกลุ่ม ทุกรัฐบาลจะต้องทำเพื่อประชาชนไม่ใช่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือทำเฉพาะกับคนที่สนับสนุนตัวเองเท่านั้น หากเป็นแบบนี้อยู่ไม่สามารถสร้างอนาคตได้ และจะทำให้เกิดความแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายเหมือนเดิม

ตำรวจยังไม่มีบทสรุปว่าจะดำเนินคดีกลุ่มแร็ปเปอร์หรือไม่

ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังจากประชุมร่วมกับพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจปอท. กรณีเพลงแร็ป ประเทศกูมี ว่าขณะนี้ ยังไม่พบหลักฐานใดที่จะเอาผิดได้ อย่างไรก็ตามยังคงกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาของเพลงอย่างละเอียด รวมถึงเบื้องหลัง การแต่งเนื้อร้องและทำนองด้วย เพื่อจะดูว่าเข้าข่ายตามความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมร่วมระหว่างฝ่ายกฎหมายและฝ่ายสืบสวนของ ปอท.ว่า เนื้อหาของเพลงเข้าข่ายผิด พรบ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งความ หรือจับกุมตัวศิลปินกลุ่มนี้แต่อย่างใด” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษกปอท. ระบุ

หนึ่งในแร็ปเปอร์ที่ใช้ชื่อว่า Jacoboi กล่าวแก่เบนานิวส์ว่า ทางกลุ่มมีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าทางกลุ่มไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็ตาม

“เรามั่นใจว่าเพลงนี้ไม่มีอะไรที่เกินกฎหมายเลย เรามีแร็ปเปอร์ 10 คนร่วมกันเขียนเพลง เราพูดอะไรใหม่ไหม ทุกประเด็นเป็นสิ่งที่คนพูดเต็มอินเตอร์เน็ตไปหมด.. เรายังปลอดภัยดีกันทุกคนนะครับ เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลใจให้พวกเราทุกคนมาก” Jacoboi กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

กลุ่มศิลปินยืนยันไม่ได้รับเงินใครมาโจมตีรัฐบาล

นายณัฐพงศ์ ศรีม่วง หนึ่งในผู้แต่งเนื้อเพลง และผู้ก่อตั้งวง RAD ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตั้งใจเขียนเพลงเพื่อสื่อสารไปยังสังคมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาการคอร์รัปชันหรือรัฐบาลทหาร แต่องค์รวมมาจากความขัดแย้งของประชาชนที่มาจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนประเทศหาทางออกไม่ได้ และถึงเวลาที่ประชาชนควรจะตื่นตัวและหาทางออกร่วมกันได้แล้ว

“เราไม่ได้รับงานมา ไม่มีแน่นอนครับ ถ้ามีคนสั่งมาหรือเราได้เงินจำนวนมากมาทำ มันคงเสร็จมานานแล้ว อันนี้เป็นโปรเจ็คต์ที่ยืดยาวมาเกินครึ่งปี จนเพิ่งมาเสร็จเมื่อไม่นานนี้” นายณัฐพงศ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

“เราต่อต้านเผด็จการ แต่ความหมายของเผด็จการมันไม่ใช่แค่ทหาร แต่แค่ว่า ณ วันนี้มันเป็นเผด็จการทหาร ถ้าต่อไปข้างหน้ามันเป็นเผด็จการรัฐสภา เราก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน” นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

นางสาวนรินทร ณ บางช้าง ร้อคสตาร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คระบุว่า มีความรู้สึกว่า มีนักการเมืองกลุ่มที่สูญเสียอำนาจใช้เด็กกลุ่มนี้สร้างความแตกแยก

“ทำไมไม่บอกบ้างล่ะว่า ประเทศกูมีของดีแค่ไหน หรือประเทศกูมีนายกที่โกงทั้งตระกูล เคยมีคนเผาบ้านเผาเมือง เคยมีคนโกงจำนำข้าว... จะเกลียดทหารก็เกลียดไป แต่ทำร้ายประเทศทำไม” ศิลปินร้อคหญิงระดับตำนาน โพสต์ลงเฟสบุ๊คส่วนตัว

นายพีระพัฒน์ พรหมเพศ อาชีพอิสระ ชาวกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ทางโทรศัพท์ระบุว่า ฟังแล้วถึงแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ยังไม่รู้สึกได้ถึงความเป็นกลาง

“ยังเป็นการพูดแบบเลือกข้าง ถ้าหากจะพูดถึงความจริงอย่างที่พวกเขาต้องการจะสื่อว่า นี่คือมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่คุณมองย้อนไปได้ถึง 6 ตุลา 2519 แต่ทำไมคุณไม่เอาเรื่องราวของไฟไหม้ ในปี 53 หรือ เรื่องราวของน้ำที่เอาอยู่ ในปี 54 มาเล่าในเพลงนั่นด้วย เพราะตรงนั้น ก็ถือว่า ประเทศกูมี เหมือนกัน” นายพีระพัฒน์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง