นายกรัฐมนตรีเผยแนวทางปรองดอง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.17
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-620 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (กลาง) เดินผ่านสนามหลวงที่มีประชาชนจำนวนมากมารอเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ กรุงเทพ วันที่ 19 ตุลาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันอังคาร(17 มกราคม 2560)นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยว่า เตรียมนำแนวทางการปรองดองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งให้เชิญนักการเมือง มาพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนจะให้ตกลงทำสัญญายุติการขัดแย้งมาดำเนินการจริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงแผนการปรองดองที่เป็นแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนำแนวคิดดังกล่าวมาดำเนินการจริง ต้องให้คู่ขัดแย้งร่วมพูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก

“ไม่ใช่คุยกันแค่คน 3-4 คน แล้วจบ แล้วไปสู่การใช้กฎหมาย ไม่ได้ ประเทศชาติตัดสินใจด้วยประชาชน ประชาสังคม เพราะฉะนั้นการที่จะไปลงสัจจะวาจาของผม หรือสัญญาประชาคม เช่น จะไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง อะไรอย่างนี้ ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ใช่พอไอ้นี่เป็นไอ้นี่ก็ต่อต้าน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดปรองดองว่า กระบวนการดำเนินการปรองดองนั้นรัฐบาลจะไม่กำหนดกติกาขึ้นเอง แต่จะรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และร่วมกันวางกรอบกติกา

“ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคการเมืองไหน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ก็ไปสังกัดพรรคการเมือง แต่ละพรรคก็มาพูดโดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคนฟัง ฟังแล้วก็จะมารวบรวมทั้งหมด แล้วก็จะมาเขียนเป็นกติกาเกิดขึ้น แล้วก็จะมาชี้แจงให้ทุกพรรคการเมืองทราบ อันไหนเขาไม่ชอบก็มาคุยกันไม่ใช่ว่าผมจะมาตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นเอง ไม่ใช่ ต้องให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า เราจะอยู่กันอย่างนี้เพื่อความปรองดองของประเทศต่อไปในอนาคต” รองนายกรัฐมนตรีระบุ

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งแรกขึ้น โดย ป.ย.ป. จะแบ่งการทำงานเป็น 4 กรรมการย่อย ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยคาดว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 มาตรา 44 หลังการประชุมระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญติแห่งชาติ(สนช.) หลังวันที่ 20 มกราคม 2560

ฝ่ายการเมืองเห็นด้วยกับการปรองดอง แต่เชื่อว่าทำได้ยาก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับแผนปรองดองที่รัฐบาลทหารเตรียมดำเนินการว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่เชื่อว่าการดำเนินการจริงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือ

“ผมมั่นใจว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยและพร้อมจะให้ความร่วมมือ แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของทุกๆ ฝ่าย แม้ความขัดแย้งในสังคมไทยสะสมมายาวนานกว่าสิบปี ความแตกแยกฝังรากลึกกระจายลงไปในแทบทุกอณูของสังคม จนก่อให้เกิดผลกระทบหลายระดับ นำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน สูญเสียเวลาในการพัฒนาประเทศโดยรวมอีกด้วยก็ตาม” นายองอาจกล่าว

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นว่า การนิรโทษกรรมควรเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความปรองดอง

“อยากให้เชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือนักวิชาการที่มีความเป็นกลาง รวมทั้งประชาชนให้ความไว้วางใจเข้ามาร่วม ส่วนที่ พล.อ.ประวิตรระบุว่า จะไม่มีเรื่องของการนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ผมมองว่าเรื่องการนิรโทษกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผมพร้อมให้การสนับสนุนเพราะอยากให้เกิดขึ้นจริง แต่ไม่อยากให้ทำเพื่อสร้างภาพว่าทำเรื่องปรองดองแล้ว หรือทำเพื่อให้พ้นภาระว่าได้ทำเรื่องนี้ไปแล้ว” นายสมชายกล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า แนวคิดการเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือแนวทางปรองดองเป็นแนวคิดที่ดี แต่เชื่อว่าปฎิบัติจริงได้ยาก

"แนวคิดจะเอาตัวแทนพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันมาทำเอ็มโอยูเพื่อยุติความขัดแย้งนั้น แม้เป็นเจตนาที่ดี แต่พูดง่ายทำยาก นึกไม่ออกว่าจะทำได้ขนาดไหน อย่างไร เพราะจะมีปัญหาว่าใครจะทำเอ็มโอยูกับใคร เรื่องอะไร และใครจะเป็นตัวแทนที่ได้รับการยอมรับจริงๆ ในแต่ละฝ่าย และกลุ่มเคลื่อนไหวที่อยู่นอกประเทศจะดำเนินการอย่างไร ที่สำคัญความขัดแย้งมีหลายมิติสลับซับซ้อน การเน้นดำเนินการเฉพาะกับแกนนำก็อาจจะได้ระดับหนึ่งเท่านั้น" นายสุริยะใสกล่าว

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะชวนทุกฝ่ายการเมืองมาพูดคุยเพื่อความปรองดอง แต่เชื่อว่าทหารจำเป็นต้องสร้างความเป็นกลางให้กับตัวเองจึงจะสามารถดำเนินกระบวนการนี้ได้ดี

“คนกลางคือคนที่จะทำหน้าที่อำนวยการ แต่มันติดขัดในหลักการว่าด้วยทหารเป็นหนึ่งในผู้ขัดแย้ง ปกติต้องหาคนนอกมาช่วย ประเด็นคือทหารจะต้องสลัดหรือทำให้ความเป็นคู่ขัดแย้งลดลงไป เพื่อให้ทหารสามารถเป็นผู้อำนวยการในการพูดคุยและนำไปสู่การปรองดองได้ ทหารต้องส่งสัญญาณความตั้งใจจริง แม้ว่า จะตั้ง คณะกรรมการ ป.ย.ป. ก็ยังไม่เห็นถึงความตั้งใจจริงพอ” นายสมบัติกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง