เจ้าหน้าที่ จชต. ตรวจดีเอ็นเอผู้เกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรก

มารียัม อัฮหมัด
2019.04.04
ปัตตานี
190404-TH-deepsouth-DNA-800.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจดีเอ็นเอจากกระพุ้งแก้มของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา วันที่ 2 มีนาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ในการเกณฑ์ทหารชายไทยในปีนี้ เป็นปีแรกที่มีการเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเฉพาะในพื้นที่ เพื่อเก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อความสะดวกในการพิสูจน์หลักฐาน เมื่อเกิดเหตุรุนแรง ซึ่งผู้เกณฑ์ทหารได้ให้ความร่วมมืออย่างดี ยกเว้นบางรายที่ขอปฏิเสธ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้งดเว้นการเก็บดีเอ็นเอ

พันเอกชลัช ศรีวิเชียร รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าวในวันนี้ว่า ในจังหวัดยะลา มีชายไทยซึ่งถึงกำหนดต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจำนวนทั้งสิ้น 3,766 คน แต่จะรับเพียง 565 คน โดยแบ่งเป็นทหารบก 152 คน และทหารเรือ 413 คน ซึ่งการตรวจคัดเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ ในวันนี้ มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากผู้มาตรวจเลือกทุกคน ตามความสมัครใจด้วย

“การตรวจดีเอ็นเอของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนโดยไม่ได้บังคับ ปีนี้เป็นปีแรก และถือเป็นการนำร่อง ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลาก่อน หลังจากนี้ ก็จะมีการขยายไปพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไปด้วย” พันเอกชลัช กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“การเก็บตรงนี้ เราจะนำมาทำเป็นฐานข้อมูล คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องของเหตุการณ์ก่อความไม่สงบขึ้นอยู่บ่อย เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษก็ต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของหลักฐาน ประจักษ์พยาน โดยเฉพาะดีเอ็นเอ” พันเอกชลัช กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนการที่บุคคลสามารถปฏิเสธการเก็บดีเอ็นเอได้นั้น พันเอกชลัช ไม่ถือเป็นช่องว่างของกฎหมาย เพราะผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารถึง 99 เปอร์เซ็น ยินยอมให้เก็บดีเอ็นเอ และยังมีกฎหมายฉบับอื่นรองรับ ในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยไม่ยินยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ

“สำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ตรวจ มีกฎหมายอยู่ตัวหนึ่ง คือ กม. มาตรา 131/1 ป.วิอาญา อันนี้จะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน เพื่อจะต้องพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ ให้สันนิษฐานว่าผลเป็นไปตามตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหา เมื่อคุณไม่ให้ตรวจก็แสดงว่าคุณเป็นคนร้าย คุณมีอะไรทำไมถึงไม่ให้ตรวจ” พันเอกชลัช กล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับบุคคลเพื่อการเก็บดีเอ็นเอได้ แต่ทางการไทยได้พยายามรวบรวมฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคล ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไว้ในฐานข้อมูลกว่าหนึ่งแสนรายแล้ว เพื่อป้องปรามและอำนวยความสะดวกในการติดตามตัวผู้ร้ายที่ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมานานกว่า 15 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน

ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ที่ไม่ยอมรับการตรวจเก็บดีเอ็นเอ กล่าวว่า "ที่ไม่ให้ตรวจ เพราะเขาชอบใส่ร้ายชาวบ้าน แล้วเขาจะยัดข้อหาว่าเราเป็นคนร้าย คนแถวบ้านหลายคนแล้วที่โดน ผมก็เลยกลัว"

ด้านนายมารูวรรณ วาเด็ง ชายไทยที่เข้ารับการเลือกทหารที่จังหวัดยะลา แต่ไม่ต้องเข้าประจำการเพราะจับฉลากได้ใบดำ กล่าวว่า ตนเองไม่มีความกังวลใจต่อการตรวจเก็บดีเอ็นเอ

“ปีนี้ มีการตรวจดีเอ็นเอด้วย เห็นว่าครั้งแรกด้วยที่ทำ ตรวจกันเฉพาะใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลาเท่านั้น ที่รู้ก็เฉยๆ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร อาจเป็นผลดีก็ได้” นายมารูวรรณ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนางมาซือนะ มะนาหิง แม่มารูวรรณ กล่าวว่า ใจจริงนั้น ตนอยากให้ลูกติดทหาร เพื่อจะได้ไม่ถูกเพ่งเล็งจากทางการ และจะได้อยู่ห่างไกลจากการเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด

"อยู่ในพื้นที่น่ากลัว เป็นห่วงลูก ทั้งยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ เยอะมาก จึงคิดว่าถ้าเขาเป็นทหารแล้ว จะได้พ้นจากปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ อยากให้ลูกอยู่ในกรอบระเบียบ ลูกจะได้โตเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้" นางมาซือนะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ปีนี้มีการตรวจดีเอ็นเอ ด้วยก็คิดว่าไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่ทุกคนคงไม่ได้มีอคติกันทุกคน การตรวจดีเอ็นเอ อาจเป็นข้อดีในบางครั้งเช่น เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเราที่เขาจะเก็บตั้งแต่เกิดที่โรงพยาบาลแล้ว ป้องกัน เผื่อว่าไปประสบอุบัติเหตุที่ไหน ก็จะสามารถยืนยันความเป็นตัวตนเขาได้ คิดว่าไม่น่าใช่เรื่องแปลก” นางมาซือนะ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ถึงการเก็บดีเอ็นเอว่า “ตามหลักเจ้าตัวต้องยินยอม ไม่ใช่ใช้การบังคับ แล้วถ้าเจาะ เฉพาะคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ”

"อย่างกรณี เจ๊ะนูรีซัน มาเล ที่ร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิ์ บอกว่า ยินยอมเพราะจำเป็น การตรวจดีเอ็นเอจะต้องยินยอมจากเจ้าตัว และไม่ใช่ยินยอม เพราะจำยอมอย่างเคสนี้" นางอังคณากล่าว

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ในปีนี้ ก็จะมีให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนทำการตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสารเสพติด สืบเนื่องจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของท่านแม่ทัพภาค 4 ในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งในปีนี้พบว่าสถิติการตรวจปัสสาวะหายาเสพติดในผู้เข้ารับคัดเลือกลดน้อยลง ส่วนผู้ที่ตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด ก็จะเข้าไปบำบัดของหน่วยต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง