หลายฝ่ายแถลงจุดยืน รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.07.27
กรุงเทพฯ
TH-abhisit-800 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมฟัง กกต.ชี้แจงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 20 พฤษภาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (27 กรกฎาคม 2559) นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เพราะเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แถลงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าหากร่างฯ นี้ผ่าน จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองบางฝ่าย และไม่เป็นประโยชน์กับการแก้ปัญหาของประเทศ

“ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ ขอย้ำว่า เกณฑ์การพิจารณาไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง และการเมือง แต่ที่ไม่รับเพราะเห็นว่าร่างนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ ไม่เป็นกติกาที่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากปัญหาเดิม ๆ ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

“ซึ่งถ้า 7 สิงหาคม ร่างไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็เรียกร้องเรื่องนี้มายาวนาน แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงต้องตอบคำถามวันนี้ให้ชัดว่า ผมไม่สามารถรับร่างนี้ได้เพียงเพราะผมกลัวที่จะได้สิ่งที่แย่กว่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับการแถลงจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า กกต.จะจัดเวทีในแต่ละจังหวัด เพื่อให้กลุ่มคนที่เห็นต่างมาร่วมถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

โดยในก่อนหน้านี้ นักการเมือง กลุ่มการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร ต่างได้แสดงจุดยืนแล้วเช่นกัน

สำหรับจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้นของพรรคที่เคยครองอำนาจ เช่น พรรคเพื่อไทย นั้น ในวันที่ 30 มีนาคม 2559 ทางพรรคได้ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้ว โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นผลมาจากการรัฐประหารของ คสช. และ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นเอง เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปตามความต้องการของ คสช. เป็นหลักมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ลดทอนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน แต่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการสรรหา ยิ่งระยะ 5 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คน ล้วนมีที่มาจาก คสช. ยังสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” บางส่วนของแถลงการณ์

ขณะที่กลุ่มมวลชน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ว่า พอใจและจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดยืนเดียวกับ กปปส.

“ผมไปลงประชามติแน่นอน และผมจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันนี้ผมถือฤกษ์วันที่ 24 มิถุนายน อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าใครอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคิดเหมือนผม ถ้ามีเวลาน้อย อ่านเฉพาะคำปรารภก็เข้าใจแล้ว เพราะเขียนได้ดีมาก” นายสุเทพกล่าว

ด้าน นปช. ร่วมกันแถลงจุดยืนในวันที่ 24 เมษายน 2559 ระบุว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. เชื่อว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านความเห็นชอบและถูกบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้มีโอกาสได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น นปช. ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผ่านประชามติ” นางธิดากล่าว

ขณะเดียวกันเครือข่าย 43 องค์กร ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม นักศึกษา และภาคประชาชน แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยกัน เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญขาดความเป็นธรรม เนื่องมาจากอำนาจเผด็จการ เนื้อหาจะพาประเทศชาติถอยหลัง และริดรอนสิทธิของประชาชน

อดีต ส.ส.เพื่อไทย นักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ ถูกควบคุมตัวฐานต้านร่างรัฐธรรมนูญ

ต่อกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ดำเนินการทางกฎหมายต่อขบวนการเผยแพร่จดหมายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในเชียงใหม่ โดยมีบุคคลที่ต้องดำเนินคดี รวม 11 รายนั้น ในตอนเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ได้ควบคุมตัวนายคเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก และ น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ ภรรยา พร้อมเครือข่ายรวมเจ็ดคน เพื่อการสอบสวนและดำเนินคดี ม.116

ทั้งนี้ นายคเชน ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ในเวลาถัดมา เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัว น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ขณะกำลังเดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ กรณีที่ถูกขบวนการเผยแพร่จดหมายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในเชียงใหม่

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้เข้าควบคุมตัว น.ศ.ทัศนีย์ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2556 ฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปสอบปากคำที่ มทบ.11 ในกรุงเทพ เป็นเวลา 7 วัน และจะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง