ผู้ลี้ภัยสงครามจากเมียนมาชุดที่สอง เดินทางกลับบ้านเกิด

ภิมุข รักขนาม
2018.05.09
กรุงเทพฯ
180509-TH-refugees-1000.jpg เยาวชนที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านแม่หละ ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ขณะเฝ้ารอการมาเยือนของนางอองซานซูจี วันที่ 2 มิถุนายน 2553
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ องค์กรให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการไทยและเมียนมา ได้ทำการส่ง-รับมอบตัวผู้ลี้ภัยรวม 93 คน จากสถานที่พักพิงชั่วคราวห้าแห่งในประเทศไทย ที่พร้อมใจเดินทางกลับไปถิ่นที่อยู่เดิมในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับโดยสมัครใจปีละสองครั้ง

การส่งตัวครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองที่เกิดขึ้น โดยครั้งแรกนั้น มีการส่งตัวกลับ 71 คน เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไทยและเมียนมา ได้บรรลุข้อตกลงในการรับ-ส่งตัวผู้พลัดถิ่น เพราะภัยการสู้รบที่หลบหนีสงครามในประเทศเมียนมามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานกว่าสองทศวรรษ กลับคืนมาตุภูมิโดยสมัครใจ โดยข้อตกลงเกิดขึ้นได้ หลังจากรัฐบาลทหารพม่าที่นำโดย พลเอกตัน ฉ่วย ในขณะนั้น ยอมหลีกทางให้กระแสประชาธิปไตย และยอมให้มีการเลือกตั้งจนพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจี ได้มีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาล

“ในเดือนมีนาคม 2561 นี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ได้ตกลงที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศด้วยความสมัครใจ ปีละสองครั้ง ส่วนจำนวนการเดินทางกลับบ้านแต่ละปีนั้น ขึ้นอยู่กับผู้อพยพเอง รวมทั้งสถานการณ์ที่จะเอื้ออำนวยว่าจะต่อความปลอดภัยและต่อการสมัครเดินทางกลับหรือไม่” นางสาวแฮนนาห์ แมคโดนัลด์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

ในปัจจุบัน ยังมีผู้ลี้ภัยการสู้รบ อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 9 แห่ง มีจำนวนประมาณ 150,000 คน

เจ้าหน้าที่ทางการไทยผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า มีชนกลุ่มน้อยประมาณ 200,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงได้หลบหนีการสู้รบเข้ามาอาศัยในประเทศไทย เมื่อฐานที่มั่นที่ค่ายคอมูราของกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ที่มีนายพลโบเมี๊ยะเป็นแกนนำ ถูกทหารพม่าตีแตก ในปี 2537

ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ผู้ลี้ภัย 93 คน ได้เดินทางออกจากที่พักพิงชั่วคราวห้าแห่ง (บ้านในสอย แม่หละ อุ้มเปี้ยม นุโพ และบ้านดอนยาง) โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม เดินทางข้ามแดนไปยังรัฐคะยา (ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน) และรัฐกะเหรี่ยง (ตรงข้ามตาก) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาต้อนรับ ณ ศูนย์ต้อนรับ จากนั้นจะเดินทางไปยังหมู่บ้านหรือเมืองต่างๆ แต่บางราย ต้องเดินทางลึกเข้าไปจนถึงภาคพะโค และภาคสะไกในทางตะวันตกเฉียงเหนือ

“ผู้อพยพในประเทศไทย ได้แสดงความสนใจที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดและได้วางแผนอนาคตของตนไปไกลกว่าการใช้ชีวิตในสถานที่พักพิง โดยมีความหวังว่าในบ้านเกิดของตนในทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ มีความสงบและมีความมั่นคง ยูเอ็นเอชซีอาร์คาดว่าจะมีการเดินทางกลับอีก” ข้อความในเอกสารประชาสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวไว้

ส่วนพื้นที่ในรัฐยะไข่ที่มีปัญหาการปะทะกัน ระหว่างชาวยะไข่กับชาวโรฮิงญานั้น ยูเอ็นเอชซีอาร์ เชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ที่จะเดินทางกลับ จากข้อมูลของเอ็นจีโอแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีชาวโรฮิงญา ที่ถูกกักตัวหรือหลบซ่อนอยู่ในประเทศไทยประมาณ 400 คน

“เรายินดีที่ผู้พลัดถิ่นสามารถเดินทางกลับมาตุภูมิได้ เพราะว่าความเป็นอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว ไม่ได้มีความสุขสบายเหมือนบ้านเกิดของตน” เจ้าหน้าที่ทางการไทยผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง