ยูเอ็นเอชซีอาร์พบนายกรัฐมนตรี หารือปัญหาผู้ลี้ภัย-คนไร้รัฐ

อวิกา องค์รัตนะคณา
2017.07.07
กรุงเทพฯ
TH-refugees-1000 ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานั่งอยู่กับข้าวของใกล้กับที่พักชั่วคราว ที่ค่ายแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 24 มีนาคม 2556
เอเอฟพี

ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เขาได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทย ในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามในการส่งผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมากลับประเทศต้นทาง โดยเป็นความสมัครใจ และการปรับปรุงมาตรการดูแลผู้ลี้ภัยนับแสนคน และคนไร้รัฐที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  ด้านรัฐบาลสัญญาจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุง

นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees) แถลงผลการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับปากว่า ประเทศไทยจะพัฒนาระบบประเมินสภาพผู้ลี้ภัย เร่งแก้ปัญหาคนไร้รัฐ และยินดีจะทำตามข้อเรียกร้องในการส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลับประเทศโดยสมัครใจ

“นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทยกลับประเทศต้นทาง โดยการส่งตัวผู้ลี้ภัยจะเป็นไปอย่างสมัครใจ และต้องมั่นใจว่าเมื่อผู้ลี้ภัยกลับถึงประเทศแล้ว จะสามารถอาศัยอยู่ได้จริง ไม่เกิดปัญหาภายหลัง โดยในอนาคตไทยจะสร้างระบบประเมินสถานภาพผู้ลี้ภัย รวมถึงรัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้เข้าถึงการศึกษา และสัญญาว่าจะไม่กักขังผู้ลี้ภัยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แม้เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็ตาม” นายกรานดี กล่าว

ในระหว่างการเดินทางไปประเทศเมียนมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว นายกรานดี ได้เข้าพบกับนางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ซึ่ง นางซูจี ได้กล่าวว่า ทางรัฐบาลของเธอยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่จะเดินทางกลับประเทศเมียนมา

"นายกรัฐมนตรีไทยเห็นชอบด้วย ตกลงที่จะมีการส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลับไปยังเมียนมา และเห็นพ้องกับสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาได้แจ้งมา ว่าจะเป็นการเดินทางกลับที่ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ยั่งยืน และค่อยเป็นค่อยไป" นายกรานดีกล่าว

นายกรานดี ระบุอีกว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ร่วมผลักดันให้รัฐบาลไทยส่งตัวชาวเมียนมากลับประเทศด้วยความสมัครใจ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2559 มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 71 คน ถูกส่งกลับประเทศแล้ว และในปีนี้จะมีอีก 200 คน ที่ได้เดินทางกลับประเทศ

“เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทั้งสองรัฐบาลได้เริ่มโครงการนำร่อง โดยการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา” กรานดี กล่าวกับผู้สื่อข่าว “และขณะนี้ เรากำลังเตรียมที่จะส่งผู้ลี้ภัยจำนวนอีก 200 คนกลับ ซึ่งจะเกิดขึ้นทันทีที่เราพร้อม โดยหวังว่าจะเป็นการเดินทางกลับ และมีการรับกลับผู้ลี้ภัยอย่างดี”

“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการพูดคุยคือ การมอบสัญชาติไทยให้กับคนไร้สัญชาติ ไร้รัฐ ซึ่งเชื่อว่า มีกว่า 5 แสนคน โดยเฉพาะในภาคเหนือ และพื้นที่ห่างไกล ยูเอ็นเอชซีอาร์เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และยูเอ็นเอชซีอาร์ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากด้วยเช่นกัน” นายกรานดีกล่าวเพิ่มเติม

นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงผลการพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อสื่อมวลชน ณ โรงแรมอนันตารา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ยุติการควบคุมตัวและบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย

ประเทศไทยได้รองรับผู้ลี้ภัยประมาณ 102,000 คน จากข้อมูลของ UNHCR ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวตามพรมแดนไทย-เมียนมา มาเป็นเวลานาน และจำนวนนี้รวมถึง “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” อีก 8,000 คน ซึ่งมาจากปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย จีน และประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฟอร์ติฟายไรท์, ฮิวแมนไรท์วอทช์ และอื่นๆ รวม 13 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ ในวาระที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยเป็นครั้งแรก โดยเร่งรัดให้รัฐบาลไทยจัดทำกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยให้มีประสิทธิภาพตามหลักสากล เรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการ พร้อมทั้งเสนอให้รัฐช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งในเรื่องกฎหมาย การศึกษา สุขภาพ และการประกอบอาชีพ

“รัฐบาลไทยได้เน้นย้ำพันธกิจที่มีต่อหลักมนุษยธรรมและการดูแลผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งในการแถลงต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่กรุงนิวยอร์ค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการกักขังผู้ลี้ภัย ที่เป็นเยาวชนในประเทศไทย และจะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยที่มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรียังได้ประกันว่า การเดินทางกลับสู่เมียนมาของผู้ลี้ภัยจะเป็นไปโดยสมัครใจ และจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิด” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

โดยในแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องโดย เร่งให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ยุติการส่งกลับในทางอ้อม การควบคุมตัวโดยพลการและอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ให้มีประกันการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการเดินทางกลับโดยสมัครใจ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ให้มีประกันว่าผู้ลี้ภัยทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงขั้นตอนการขอลี้ภัยได้ การเข้าถึงสถานะทางกฎหมาย โดยประกันว่าผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล การศึกษา และความช่วยเหลืออื่นๆได้ และ การเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 รวมทั้งสนธิสัญญาที่สำคัญด้านสิทธิมนษุยชนอื่นๆ และเพิกถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

สำหรับการเข้าพบนายกรัฐมนตรีของนายฟิลิปโป กรานดี ครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า หลายๆประเด็นที่ทางองค์กรสิทธิฯ เรียกร้อง รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการ และเตรียมที่จะปรับใช้เพื่อผู้ลี้ภัยต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะสัญญาว่า ในอนาคตจะไม่มีการกักขังผู้ลี้ภัยที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีแล้ว แต่เป้าหมายของยูเอ็นเอชซีอาร์นั้น คือ การไม่กักขังผู้ลี้ภัยคนใดเลย ดังนั้น ปัญหาในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนยูเอ็นเอชซีอาร์กับนายกรัฐมนตรีว่า ไทยให้สัญญากับยูเอ็นเอชซีอาร์ว่าจะดูแลผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอย่างดี ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และความจำเป็นพื้นฐาน รวมถึงการให้พื้นที่การพักพิงชั่วคราว และขอขอบคุณยูเอ็นเอชซีอาร์ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องผู้ลี้ภัยแก่ประเทศไทยด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง