ผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละมีอัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูงขึ้นในช่วงสองปีล่าสุด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.06.20
กรุงเทพฯ
TH-refugees-1000 ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา ออกมาจับจ่ายซื้อหาอาหาร ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบ บ้านแม่หละ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละ จังหวัดตาก ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในสองปีล่าสุด โดยในปีที่แล้ว มีผู้ลี้ภัยฆ่าตัวตายสำเร็จมากถึง 14 ราย เมื่อเทียบกับปี 2014 ที่มีการฆ่าตัวตายเพียงรายเดียว พร้อมทั้งได้เสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทย องค์กรเอ็นจีโอท้องถิ่น และระดับสากล และกลุ่มผู้ลี้ภัย ร่วมกันหาหนทางในการแก้ปัญหา

ในวันผู้ลี้ภัยโลก เมื่อจันทร์ที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม (International Organization for Migration – IOM) มีการเผยแพร่การสำรวจในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในปี 2014 มีการกระทำอัตวินิบาตกรรมเพียงรายเดียว ในขณะที่ในปี 2015 และ 2016 มีผู้ลี้ภัยฆ่าตัวตายสำเร็จมากถึงปีละ 14 ราย

ซึ่งไม่นับรวมกับผู้มีความพยายามในการฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จอยู่ที่ 30 ราย ในปี 2014 และ 31 ราย ในปี 2015 ส่วนในปี 2016 อยู่ที่ 35 ราย จากจำนวนผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ที่มีอยู่ประมาณ 40,000 คน

“มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในช่วงสองปีล่าสุด ซึ่งต้องมีการให้การปรึกษา มีนักจิตวิทยา ช่วยดูแลเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในแคมป์” นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก หัวหน้าสำนักงานไอโอเอ็ม ประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ พร้อมทั้งกล่าวเสนอแนะว่า ควรจะมีการร่วมมือกันกับผู้ลี้ภัยเอง องค์กรเอ็นจีโอระดับท้องถิ่นและระดับสากล และหน่วยงานของรัฐที่จะหาวิธีป้องกันการคิดสั้น

“กระทรวงมหาดไทยของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในแต่ละระดับ” นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ส่วนกิจการชายแดนและผู้ลี้ภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางการไทยได้ตระหนักในเรื่องการฆ่าตัวตายของผู้ลี้ภัย และได้ส่งนักจิตวิทยาไปพบปะกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย มีการให้คำปรึกษา และยังมีการตั้งด่านสกัดการลักลอบนำยาเสพติดผ่านเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยอีกด้วย

“เรามีเจ้าหน้าที่ตัวแทนพักอยู่ในค่าย และคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราหวังว่าจำนวนการฆ่าตัวตายและความพยายามในการฆ่าตัวตายจะมีจำนวนลดลง” นางสาวขวัญเรือน ผู้อำนวยการส่วนกิจการชายแดนและผู้ลี้ภัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงนั้น จะอยู่ในช่วงอายุวัยกลางคน ส่วนสาเหตุโดยส่วนใหญ่มาจากปํญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเงิน สุรา ยาเสพติด และอาการซึมเศร้า

เด็กผู้ลี้ภัยพี่สาวอุ้มน้อง ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 (ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์)

นับตั้งแต่ปี 2513 ประเทศไทย ได้รองรับผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยสงครามเวียดนามและการประหัตประหารในกัมพูชา มีจำนวนผู้ลี้ภัยสูงสุดประมาณ 1.3 ล้านคน จนถึงปัจจุบัน ยังคงมีศูนย์อพยพ จำนวน 9 แห่ง ในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี เพื่อรองรับผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศเมียนมา ในช่วงตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ที่ยังค้างคาอยู่ประมาณ 100,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง

นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวในแถลงการณ์ ในวันอังคารว่า ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองอีกประมาณ 8,000 คน จากกว่า 50 ประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย ที่เสี่ยงที่จะถูกคุมขังโดยพลการโดยไม่มีเวลากำหนด และยังเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับประเทศที่มา ซึ่งอาจโดนลงโทษได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR จำนวน 330 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว

ทั้งนี้ ประเทศไทย ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้นผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองดังเช่นชาวต่างชาติอื่นๆ ผู้ลี้ภัยสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยขยายความคุ้มครองทางกฎหมายให้กับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในปี 2560

ปัจจุบันการดูแลผู้อพยพในศูนย์พักพิงกำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ จากหลายเหตุผล เช่น ผู้ลี้ภัยไม่ปรารถนาจะย้ายไปในประเทศที่สาม รวมถึงข้อจำกัดด้านเงินอุดหนุน และ การให้บริการต่างๆในค่ายผู้ลี้ภัยฯ

“มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก มันมีหลายเหตุผลที่นำมาถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย” นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง