สามนักสิทธิฯ ขอความเป็นธรรม คดี กอ.รมน.ฟ้องหมิ่นประมาท

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.02.21
ปัตตานี
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
TH-rights-activists-620 สามนักสิทธิมนุษยชน รายงานตัวต่ออัยการจังหวัดปัตตานี พร้อมทำหนังสือชี้แจงขอความเป็นธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (21 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ พร้อมทนายความ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี เพื่อขอความเป็นธรรมในคดีที่ทั้ง  3 คน ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) หลังเผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” ในต้นปี 2559

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพนักงานอัยการจะให้ความเป็นธรรมกับนักสิทธิมนุษยชน และยืนยันว่าข้อมูลที่นำเสนอในรายงานสถานการณ์การทรมานฯ ที่ได้เผยแพร่ออกเป็นไปเป็นจริงและมีพยานยืนยัน

“ยังมีความหวังอยู่ว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เพราะในทางกฎหมายเราน่าจะชนะ เรามีชาวบ้านเป็นพยานร่วมด้วยแต่ขอไม่เปิดเผยเพื่อความปลอดภัยของพยาน อยากขอความเป็นธรรมกับอัยการให้สั่งไม่ฟ้อง เพราะการดำเนินการเก็บข้อมูลมีขั้นตอนและได้ดำเนินการภายใต้กรอบการตรวจสอบข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

น.ส.พรเพ็ญ เปิดเผยว่า จุดประสงค์ในการยื่นหนังสือต่อพนักงานอัยการครั้งนี้ เพื่อขอให้พนักงานอัยการอำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการในการสั่งคดี ขอให้พนักงานอัยการสั่งตามที่เห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริง และเชื่อว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่มีสิทธิในการฟ้อง เนื่องจากเจตนาของกฎหมายหมิ่นประมาทต้องการปกป้องสิทธิของบุคคล ไม่ใช่ กอ.รมน. ซึ่งเป็นนิติบุคคล

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึง รายงานที่เป็นต้นเหตุของการฟ้องร้องครั้งนี้ว่า รายงานดังกล่าว เป็นการปกป้องสิทธิให้กับประชาชน ดังนั้นการฟ้องนร้องนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานนี้ จึงไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

“การดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามนี้ ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และอาจเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของพลเมือง ปิดปากไม่ให้ดำเนินการตรวจสอบและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่พนักงานสอบสวนทำการส่งตัวบุคคลทั้งสามให้พนักงานอัยการในครั้งนี้ สร้างความกังวลเป็นอย่างมากแก่องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“วันนี้ ได้มีผู้แทนจากสถานฑูตฯ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ และระหว่างประเทศ องค์การข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่มาสนับสนุนและให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามด้วย” นายสุรพงษ์ระบุ

หลังจากยื่นหนังสือพนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี ได้นัดให้นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน มารายงานตัวที่สำนักงานอัยการอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2560 เวลา 14:00 น.

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่ปฎิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การที่เจ้าหน้าที่ต้องการจะฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน เพื่อรักษาความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“เรื่องนี้จะฟ้องหรือไม่ ขณะนี้อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีความละเอียดอ่อนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหากทุกคนมีเป้าหมายเพื่อความสงบของชาติ ปัญหาภาคใต้คนไม่ดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ แต่เพราะวันนี้ เรามีคนเหล่านี้ที่เป็นภัยแทรกซ้อนต่อความมั่นคง จึงจำเป็นต้องมีการทำตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบกับทุกฝ่าย” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ

รายงานที่นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

เอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558  ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ https://voicefromthais.wordpress.com โดยการจัดทำรายงานฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture)

การรวบรวมข้อมูลทำรายงานชิ้นนี้ เป็นการรวมข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 มาบันทึกไว้ อายุ 19-48 ปี รวม 54 ปาก โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาให้กับเหยื่อที่ถูกทรมาน โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI)  ในกระบวนการรวบรวมใช้ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ

ผู้จัดทำชี้แจงว่า ในการเขียนรายงาน มิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง