15 ปีสมชายสูญหาย: ครอบครัวเหยื่อยังรอความยุติธรรม
2019.03.12
กรุงเทพฯ
ในวันครบรอบ 15 ปี ของการที่ นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกบังคับให้สูญหาย ครอบครัวของทนายสมชายและอีกหลายครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อยังคงรอคอยความยุติธรรม และการลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้คนต้องสูญหาย ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังไม่ผ่านการพิจารณาให้แล้วเสร็จเพื่อประกาศบังคับใช้ แม้จะมีความพยายามดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปี แล้วก็ตาม
ทนายสมชาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในขณะที่เขาเป็นทนายความให้กลุ่มผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบ จนกระทั่ง วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยห้าคน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวทนายสมชาย เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย กล่าวในงาน “15 ปีสมชายและเสียงจากผู้สูญหาย” ซึ่งจัดที่สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย โดยสหประชาชาติ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆว่า ครอบครัวของตน และผู้อื่นที่ถูกบังคับให้สูญหายยังรอคอยความยุติธรรมจากรัฐ ที่มากกว่าการเยียวยาเป็นเงิน
“แม้รัฐจะได้ช่วยเหลือด้านการเงิน ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐจะหมดภาระเรื่องการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังจากคดีสมชาย ดิฉันไม่คิดว่าจะต้องมีใครที่ถูกบังคับให้สูญหายอีก แต่ก็น่าเสียใจที่เรายังคงได้เห็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกมากมายในสังคม ดิฉันก็คงเหมือนญาติผู้สูญหายรายอื่นๆ ที่จนชั่วชีวิตอาจจะไม่ได้พบความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อว่าทุกสิ่งที่ได้ทำใน 15 ปีที่ผ่านมา จะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ คุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสังคม” นางอังคณา กล่าว
ด้านนายอดิศร โพธิ์อ่าน บุตรชายของ นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เปิดเผยในงานเดียวกันว่า การเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายย้อนหลัง ไม่สำคัญเท่ากับการที่รัฐสืบหาความจริง เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว มีกระทรวงยุติธรรมได้ติดต่อมาบอกว่า มีมติครม. ว่าจะช่วยเหลือนั่น ว่าจะช่วยเหลือนี่ ผมก็เลยบอกว่า ไม่ต้องมาช่วยผมหรอก วันที่ผมลำบาก คนเขาหิวคุณก็ควรเอาข้าวมาให้เขากิน แต่เมื่อเขาอิ่มแล้วเอาให้เขาทำไม วันนี้ สิ่งที่ต้องการคือ ต้องการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เอากระดูกพ่อไปทำบุญ สตังค์ไม่เอาแล้ว” นายอดิศรกล่าว
ขณะที่นางเอ็ง ชุ่ยเหม็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของท้าวสมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาว รางวัลรามอน แมกไซไซ ซึ่งถูกพาตัวขึ้นรถคันหนึ่งระหว่างที่เขากำลังเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้าน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 กล่าวว่า น่าผิดหวังที่ประเทศในภูมิภาคนี้ ยังคงปล่อยให้เกิดการบังคับให้สูญหายอยู่ และครอบครัวของเหยื่อยังต้องรอคอยความยุติธรรม
“ในฐานะที่เป็นภรรยาของเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายเช่นเดียวกัน ฉันเข้าใจดีว่าคุณอังคณากับครอบครัวต้องผ่านอะไรมาในช่วงระยะเวลา 15 ปี ฉันก็ต้องผ่านความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน เวลาที่ฉันนั่งอยู่แล้วเห็นครอบครัวของบุคคลที่สูญหายนั่งอยู่รอบตัวฉัน ฉันรู้สึกโมโหมากขึ้น เพราะความยุติธรรมที่ไม่มีให้เหยื่อ และครอบครัวของคนที่ถูกบังคับสูญหายเลย ฉันรู้สึกโมโหว่าอาชญากรรมของรัฐที่ถูกปล่อยให้ลอยนวล อาชญากรรมเช่นนี้ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในประเทศของพวกเรา” นางเอ็ง กล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านล่าม
ทั้งนี้ นางอังคณา ยังได้กล่าวถึงการดำเนินการผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ว่า สาระสำคัญของกฏหมายฉบับนี้ เทน้ำหนักในการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าที่จะคุ้มครอง และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ในกระบวนการของ สนช. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของปะชาชน หรือคนทำงานด้านการบังคับสูญหาย รวมถึงไม่รับฟังข้อเรียกร้อง และความทุกข์ยากของครอบครัว การเขียนกฏหมายจึงเป็นเหมือนการเขียนกฏหมายด้วยความกลัว ความหวาดระแวงว่า กฎหมายฉบับนี้จะมุ่งเอาผิดเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและอาจขัดขวางต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้มันคือร่างกฏหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณา อาจไม่สามารถคุ้มครองป้องกันการทรมาน และการบังคับสูญหาย” นางอังคณา ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังคงอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังคงมีการปรับแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย
“กฏหมายเราสอดคล้องกับอนุสัญญาก็จริง แต่ในบริบทของประเทศไทย ก็ต้องปรับใช้ให้เหมาะสม กฏหมายก็เข้า สนช. เราดีใจมาก กฏหมายทำมาสิบปี แต่ว่าพอเสร็จเรียบร้อย แล้วเขาก็ตั้งกรรมาธิการปรับคำ เขาไม่ตัดคำ แต่จะต้องไม่ทิ้งหลักการของอนุสัญญา” นางนงภรณ์ กล่าว
แต่เดิม ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายถูกถอนออกไป การเขียนกฎหมายนี้ มีความมุ่งหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย
กฎหมายมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กฎหมายได้กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายไว้ตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กฎหมายกำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและอุ้มหาย คุ้มครองพยาน และช่วยเหลือเยียวยาญาติพี่น้อง และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนทั้งหลายในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายให้ได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
สหประชาชาติรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ถูกบังคับให้สูญหายแล้วอย่างน้อย 82 ราย