ชาวโรฮิงญา 65 ชีวิต เกยตื้นเกาะระวี
2019.06.11
สตูล

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา สตูล ได้แจ้งทหารเรือเข้าตรวจสอบ เรือเกยฝั่ง เกาะระวี พบลูกเรือเป็นชาวโรฮิงญา เมียนมา และไทย 71 คน เตรียมตรวจสอบว่า เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ ส่วนในอำเภอหาดใหญ่ เมื่อวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่พบห้องเช่าที่มีชาวเมียนมา 38 คน ถูกขังอยู่อย่างแออัด
น.ท.ธนะพงษ์ สุดรักษ์ ผบ.นป.สอ.รฝ.452 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ได้รับแจ้งจาก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล ว่า มีเรือเกยฝั่งที่เกาะระวี พบผู้โดยสารชาวต่างด้าวหลายชีวิต จึงเข้าตรวจสอบ
“เรือเกยฝั่งห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 500 เมตร ในเขตบ้านกาเบง หมู่ 3 ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จึงได้แจ้ง ทรภ.3 และจังหวัดสตูล เพื่อทำการช่วยเหลือตรวจสอบพบ ผู้โดยสารเรือลำดังกล่าว 71 คน เป็น ชาย 29 คน หญิง 31 คน มีเด็ก 5 คน ผู้นำทางชาวเมียนมา 5 คน และไทย 1 คน นอกนั้น คือชาวโรฮิงญา” น.ท.ธนะพงษ์ กล่าว
“เรือลำดังกล่าวชำรุด เรือ ต.113 ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ช่วยเหลือ ให้น้ำ และอาหารในขั้นต้น ได้นำขึ้นฝั่ง เพื่อสอบปากคำว่า เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ เนื่องจากพบคนไทย 1 คน ที่โดยสารมากับเรือดังกล่าว” น.ท.ธนะพงษ์กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.สำเร็จ ใจเอื้อ รอง ผกก.สภ. ละงู กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเรื่องการดูแลคนทั้งหมด และจะมีการประชุมเพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ต่อไป
"เจ้าหน้าที่ทุกส่วนได้มีการร่วมกันหารือวางแผนอย่างเร่งด่วน เพื่อสอบปากคำคนไทย และชาวโรฮิงญาทั้งหมดว่าเข้าข่ายขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ เบื้องต้น ได้หารือเรื่องการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อขึ้นฝั่งว่า จะมีการกระจายดูแลอย่างไรต่อไป” พ.ต.ท.สำเร็จ กล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำทั้งหมดขึ้นฝั่งในตอนบ่ายวันอังคารนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ระบุคนไทยที่เดินทางมากับเรือว่า คือ นายสังคม พาพันธ์ มีภูมิลำเนาในจังหวัดระนอง แต่ไม่ได้ระบุชื่อชาวพม่าอีก 5 ราย ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำพาชาวโรฮิงญา ที่ต้องสอบสวนต่อไป
และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) เปิดเผยว่า พบชาวเมียนมา 38 ราย ในห้องเช่าแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่เตรียมตรวจสอบความเชื่อมโยงกับขบวนการการค้ามนุษย์เช่นกัน
พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจเเห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า การตรวจพบครั้งนี้ สืบเนื่องจากการจับกุมรถตู้โดยสาร 2 คัน ที่อ้างว่า มีหน้าที่รับคนเมียนมา 38 ราย ไปส่งยังจังหวัดนราธิวาส และส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย แล้วขยายผลการสอบสวน
พล.ต.อ.สุชาติ ระบุว่า คนขับรถตู้สายปัตตานี-สงขลา สารภาพว่า มีแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาจำนวนมากที่นายหน้านำไปกักตัวไว้ในห้องเช่า เลขที่ 79/7 ต.พะตง อ.หาดใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงได้ไปตรวจสอบ ห้องดังกล่าว ถูกใส่กุญแจอย่างแน่นหนา สภาพเหมือนปิดตาย เมื่อเปิดประตูออก กลับพบว่า มีชาวเมียนมาอยู่ด้านใน
“เจ้าหน้าที่ตะลึงพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่า มากถึง 38 คน นั่งกันอยู่อย่างแออัดในห้องเช่า ซึ่งมืดทึบ แต่ละคนอ่อนล้า อิดโรย จากการสอบถามทราบว่า มีนายหน้านำมาขังไว้ สั่งห้ามส่งเสียงดัง ห้ามเปิดไฟ และอดข้าวมาแล้ว 3 วัน ทั้งหมด รอคนมารับเพื่อส่งต่อไปมาเลเซีย” พล.ต.อ.สุชาติ กล่าว
“ชาวเมียนมาทั้งหมดจะถูกส่งไปสอบสวนยัง สภ.ทุ่งลุง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวน และคัดแยกเหยื่อตามกระบวนการของกฎหมาย ก่อนหน้านี้ เคยพบกรณีใกล้เคียงกัน เป็นคนชาวโรฮิงญาถูกขนส่งผ่านประเทศไทย เพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย แรงงานแต่ละคนจะต้องจ่ายค่าเดินทางให้แก่นายหน้า คนละประมาณ 1 ล้านจ๊าด หรือ 2 หมื่นบาท” พล.ต.อ.สุชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ปัญหาอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญา องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ เคยเปิดเผยข้อมูลในปี 2561 ว่า นับตั้งแต่การที่ชาวโรฮิงญาหนีออกมาจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา หรือจากค็อกซ์ บาซาร์ บังกลาเทศ ในห้วงปี 2558 และมีการยุติไประยะหนึ่ง มีชาวโรฮิงญาเริ่มหนีออกจากถิ่นฐานเดิมมายังประเทศไทยโดยทางเรืออีกครั้ง ในตอนต้นปี 2561 นี้ หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาเริ่มกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างขนานใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2560 จนมีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศราว 600,000 ถึง 700,000 คน
สำหรับประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม 2558 ได้มีการค้นพบศพกว่า 30 ศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ สงขลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามา โดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย จนนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย ซึ่งล่าสุด ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยสำคัญ เช่น พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน เมื่อเดือนกรกฏาคม 2560
“ในห้วงปีที่ผ่านมานี้ จำนวนชาวโรฮิงญาที่มายังประเทศไทยลดลง เมื่อเทียบกับ ปี 2558 แต่ยังไม่ได้ยุติลงทั้งหมด เราได้ยินรายงานเรื่องการเข้ามาทางเรือ ในปีที่แล้วและในปีนี้ ทางการไทยควรพิจารณาว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ เป็นผู้ถูกค้ามนุษย์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผลจะออกมาทางใด ทางการไทยมีพันธะที่ต้องให้การคุ้มครองพวกเขา เพราะชาวโรฮิงญาหนีการฆ่าแกงในพม่า และสภาพที่ไร้มนุษยธรรมในค่ายพักพิงในประเทศบังกลาเทศ เขาเป็นผู้อพยพ เขามีสิทธิ” แมทธิว สมิธ ซีอีโอ องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์