รายงานการค้ามนุษย์สหรัฐฯ ปีนี้ ยังคงอันดับไทยที่เทียร์ 2
2019.06.20
ปัตตานี และวอชิงตัน
ในวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 (TIP report 2019) โดยยังคงอันดับประเทศไทยในอันดับ 2 หรือ Tier 2
“รัฐบาลไทย ยังไม่ได้ระดับมาตรฐานในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มความพยายามมากขึ้นเมื่อเทียบเทียบช่วงเวลาของรายงานครั้งก่อน ดังนั้น ประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเทียร์สอง” รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
รายงานกล่าว “รัฐบาลมีความพยายามในการระบุผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ-ผู้เสียหายมากขึ้น และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ รวมถึงหากเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำความผิดด้วยระวางโทษที่สูงกว่าคนทั่วไป”
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังพยายามไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ ในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ รัฐบาลดำเนินคดีและลงโทษผู้ค้ามนุษย์เพียงไม่กี่ราย และสอบสวนคดีการค้ามนุษย์แรงงาน เพียง 43 คดี เท่านั้น” รายงานระบุ
รายงานยังระบุอีกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551 ของไทย ซึ่งกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี และการค้ามนุษย์โดยการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยระวางค่าปรับสูงถึง 62,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเกือบสองล้านบาท สำหรับการค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก
ประเทศไทยสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ 304 คดี เปรียบเทียบกับ 302 คดี ในปี 2560 ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยกระทำผิดค้ามนุษย์ 438 ราย และตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ 316 ราย ในปี 2561 รายงานกล่าว
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปีล่าสุดนี้ เผยแพร่หนึ่งสัปดาห์หลังจากเจ้าหน้าที่พบเรือบรรทุกชาวโรฮิงญา 65 คน มาติดที่เกาะราวี จังหวัดสตูล
พล.ต.ต.ดำรัส วิริยะกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคลี่คลายคดีโรฮิงญาติดเกาะราวี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ลูกเรือชาวเมียนมา 5 ราย ถูกตั้งข้อหานำพาบุคคลต่างด้าวเข้าราชอาณาจักร วันนี้ หลังจากที่กัปตันเรือชาวไทยหนึ่งราย ถูกตั้งข้อหาเดียวกันไปในก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า จะแจ้งข้อหาค้ามนุษย์เมื่อมีหลักฐานพร้อม
“...นำมาสัมภาษณ์ตรวจสอบแล้ว พบส่วนหนึ่งมีลักษณะเหมือนการค้ามนุษย์ ผู้นำพานอกจากจะผิดกฎหมายในเรื่องการนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วทางการสืบสวนสอบสวนจะต้องสืบสวนขยายผล ในเรื่องของการกระทำผิดฐานการค้ามนุษย์ด้วย” พล.ต.ต.ดำรัส กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้
พล.ต.ต.ดำรัส กล่าวอีกว่า สำหรับชาวโรฮิงญา 65 คนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ส่งไปอยู่ในความดูแลของทางเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว และทางพนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างรอตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เมื่อการรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมมูล รวมทั้งการขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องรายอื่น
“เรื่องเรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบให้ทางเจ้าหน้าที่วิทยาการพิสูจน์หลักฐาน ทางเจ้าท่าหรือทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันตรวจสอบดูว่าเรือลำนี้ จะเป็นเรือของผู้ใด มาจากไหน ส่วนจะเป็นของผู้ใดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่อย่างไรนั้น อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏ แต่ถ้าปรากฏไปถึงขนาดของใครก็ต้องดำเนินคดีหมดทุกฐานความผิดที่กระทำ" พล.ต.ต.ดำรัส กล่าว
เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รายหนึ่ง กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แล้วเสร็จ โดยใช้เวลา 8 วัน ครบกำหนดศาลสั่งคุ้มครอง ได้ส่งมอบชาวโรฮิงญาทั้งหมด ให้กลับไปอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ และได้ยืนยันการแจ้งข้อกล่าวหานำพาบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศ
“ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวคนไทย 1 คน พร้อมชาวเมียนมา 5 คน หลังพบเป็นผู้นำพา ดำเนินคดีหลังพบเป็นหนึ่งในเครือข่ายโกมิก จังหวัดระนอง ในคดีค้ามนุษย์ หลังเกิดเหตุวันที่ 11 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมานั้น”
ด้านชาวโรฮิงญารายหนึ่งให้ข้อมูลในการซักถามโดยเจ้าหน้าที่ว่า เครือข่ายค้ามนุษย์อยู่ในประเทศมาเลเซีย
"เครือข่ายค้ามนุษย์ในประเทศมาเลเซียประสานให้ไปทำงาน โดยมีนายหน้าประเทศเมียนมาเป็นผู้จัดส่งทางเรือ เมื่อถึงที่หมายจะให้ผู้ชายไปขายแรงงาน ส่วนผู้หญิงที่หน้าตาดีจะให้ไปแต่งงาน โดยไม่ทราบค่าหัว" ชาวโรฮิงญารายเดียวกันกล่าวแก่เจ้าหน้าที่