ตำรวจสตูลจับสองชาวโรฮิงญา-ไทย เพิ่มฐานค้ามนุษย์

มารียัม อัฮหมัด
2019.06.27
ปัตตานี
190627-TH-rohingya-trafficking-622.jpg เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาที่เดินทางมาเกยเกาะราวี นอกชายฝั่งสตูล วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสตูล กล่าวว่า ได้จับกุมตัวคนไทยอีกหนึ่งรายและควบคุมตัวชาวโรฮิงญาหนึ่งราย เพื่อดำเนินคดี เพราะมีส่วนเกี่ยวพันในการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญากว่าหกสิบคน ที่เรือมาเกยหาดเกาะราวี เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้

พ.ต.อ.ศักดา เจริญกุล รอง ผบก.ภ.จว.สตูล ระบุว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายอนิซุร เราะห์มาน หรือ มาเล็ก (Anisur Rohaman) ชาวโรฮิงญา ตามหมายจับศาลจังหวัดสตูล ที่ จ.101/2562 ลงวันที่ 24 มิ.ย. 62 มาควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองสตูล และจับกุมนายพิทักษ์ หรือเปี๊ยก ลอดเอ่น อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/20 ถ.ชลระอุ ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง ตามหมายจับศาลจังหวัดสตูล ที่ จ.102/2562 ลงวันที่ 24 มิ.ย. 62 โดยจับกุมได้ที่จังหวัดระนอง มาควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองสตูล ไว้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นายอนิซุร เราะห์มาน เป็นนายหน้าชักชวนชาวโรฮิงญาให้เดินทางมา ส่วนนายพิทักษ์ เป็นช่างดัดแปลงเรือ รวมทั้งจัดหาไต๋ก๋งเรือ ซึ่งเรือที่ใช้เดินทางเป็นเรือไม้ขนาด 30 ตันกรอส ได้เกยหาดที่เกาะราวี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562

“สืบทราบว่านายมาเล็ก ชาวโรฮิงญา เป็นผู้ชักชวน จัดหาชาวโรฮิงญา 60 กว่าคน เดินทางมากับเรือ และเป็นหนึ่งที่ปะปนมากับเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ส่วนนายเปี๊ยก เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาผ่านช่องทางจังหวัดสตูล โดยทำหน้าที่เป็นช่างดัดแปลงประจำเรือ และจัดหาไต๋กงเรือ” พ.ต.อ.ศักดา กล่าว

การจับกุมตัวผู้ต้องหาสองรายล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำชาวโรฮิงญา 65 คน ซึ่งมีนายอนิซุร เราะห์มาน นายหน้าปนอยู่ด้วย และได้การขยายผลการจับกุมในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุม นายสังคม พาพันธุ์ อายุ 49 ปี ไต้ก๋งเรือชาวจังหวัดระนอง และชาวเมียนมา 5 คน ซึ่งเป็นผู้นำพาไปก่อนแล้ว

พ.ต.อ.ศักดา กล่าวอีกว่า ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าค้ามนุษย์ โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้กระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน เพื่อแสวงหาประโยชน์ในลักษณะการเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขังจัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลและเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้กระทำร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป หรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อให้ผู้เสียหาย ถูกพาเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายฯ ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีค้ามนุษย์รายหนึ่งกล่าวว่า พบว่ายังมี บังโอม ชาวจังหวัดระนอง อีกหนึ่งคน ที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ในครั้งนี้ ซึ่งพบว่าเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่สามารถขยายผลไปยังรายอื่นๆ ต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผบก.ภ.จ.สตูล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาเพิ่มต่อนายสังคม พาพันธ์ และชาวเมียนมาอีก 5 คน ในข้อหาค้ามนุษย์ และอาชญากรข้ามชาติอีกด้วย หลังจากที่ในชั้นต้น ได้แจ้งข้อหานำพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ไว้ก่อนแล้ว

“ทางพนักงานสอบสวนชุดสอบสวนคดีดังกล่าวได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาล แจ้งข้อหาเพิ่มเป็นข้อหาค้ามนุษย์กับ นายสังคม พาพันธ์ และชาวเมียนมา 5 คน และยังแจ้งข้อหาอาชญากรข้ามชาติ เพิ่มอีก 1 ข้อหา ซึ่งทั้งหกคน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดสตูล โดยพนักงานสอบสวน จะเข้าไปแจ้งข้อหาในเรือนจำจังหวัดสตูล ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ อีกครั้ง” พล.ต.ต.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผบก.ภ.จ.สตูล กล่าว

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์กล่าวว่า ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาตกค้างอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 150 คน รวมทั้งชาวโรฮิงญากว่า 60 คน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระจายอยู่สถานที่สงเคราะห์ต่างๆ ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านศรีสุราษฎร์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.สงขลา (บ้านพัก อ.รัตภูมิ) รวมทั้ง ที่ทำการ ตม. ในจังหวัดพังงา ระนอง และ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 (TIP report 2019) โดยยังคงอันดับประเทศไทยในอันดับ 2 หรือ Tier 2 โดยข้อความในรายงานฯ ระบุว่า เนื่องจากว่า “รัฐบาลไทย ยังไม่ได้ระดับมาตรฐานในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มความพยายามมากขึ้นเมื่อเทียบเทียบช่วงเวลาของรายงานครั้งก่อน ดังนั้น ประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเทียร์สอง”

อย่างไรก็ตาม รายงาน ยังชมเชยรัฐบาลไทยว่า “รัฐบาลมีความพยายามในการระบุผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ-ผู้เสียหายมากขึ้น และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ รวมถึงหากเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำความผิดด้วยระวางโทษที่สูงกว่าคนทั่วไป”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ประเทศไทยควรจะต้องดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อไป

“แม้ว่าสหรัฐยังคงระดับเราไว้ที่เทียร์สอง แต่รัฐบาลต้องดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป กรณีของโรฮิงญาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าขบวนการค้ามนุษย์ยังคงมีอยู่ และพร้อมที่ดำเนินการต่อเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย” นางสาวพุทธณี กางกั้น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง