ประชาชนค้างแรมตลอดบาทวิถี รอร่วมพิธีถวายพระเพลิงฯ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และมารียัม อัฮหมัด
2017.10.24
กรุงเทพฯ และปัตตานี
171024-TH-thai-women-620.jpg ประชาชนเข้าจับจองพื้นที่ทางเท้าใกล้ท้องสนามหลวง เพื่อรอร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 วันที่ 24 ตุลาคม 2560
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (24 ตุลาคม 2560) นี้ ประชาชนจำนวนมากได้เริ่มเข้าจับจองพื้นที่รอบบริเวณท้องสนามหลวง แม้ว่าจะมีฝนตกอย่างหนักในบางช่วง เพื่อเตรียมร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 25-29 ตุลาคมที่จะถึง

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ติดต่อจองที่พักชั่วคราวล่วงหน้าในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบสนามหลวงจนเต็มอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถหาที่พักได้ จึงได้จับจองเอาพื้นที่บนทางเท้า เพื่อค้างแรม เพื่อหวังจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสด็จพระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รักในครั้งสุดท้าย

นางสุกัญญา เฟซเลอร์ เจ้าของร้านอาหารในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางกลับมายังประเทศไทยเพื่อร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯโดยเฉพาะ เปิดเผยว่า ได้เดินทางกลับมาเพื่อกราบพระบรมศพฯ แล้ว 2 ครั้งในปีนี้ และกลับมาอีกครั้งเพื่อส่งเสด็จครั้งสุดท้าย

“แค่หัวลำโพงเรากลับไปนอนได้ แต่ถ้าเรามัวแต่ห่วงนอนเตียงนุ่มๆ เราไม่มีสิทธิได้เข้าหรอก แค่ฝนตก อยู่ในเมือง แค่ไม่กี่วันเราทนได้... ทุกคนอยู่ได้ เพราะทุกคนรักพ่อหลวง เลยไม่กลัวอะไรเลย” นางสุกัญญากล่าว

“เวลาเราเหนื่อย ท้อเรื่องงาน อยู่สวิสเซอร์แลนด์ ไม่สามารถปรึกษาใครได้ แต่แค่มองรูปพ่อหลวง เราก็ระลึกถึงว่าพ่อท่านเหนื่อย แต่ท่านก็ใช้ความสงบนิ่งของท่านแก้ปัญหาได้ เราก็ทำแบบนั้นแหละ... เหมือนเรามีพ่อท่านคนนึงให้คำสอน ชี้นำแนวทางเป็นพลังงานให้เราที่จะสู้” นางสุกัญญากล่าวเพิ่มเติม

น.ส.มาลี สุขพิทักษ์ ชาวสตูลที่นับถืออิสลาม เปิดเผยว่า เดินทางมายังกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟจากจังหวัดสตูล เพื่อมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ครั้งนี้โดยเฉพาะ และเลือกที่จะค้างแรมบนทางเท้า เพื่อรอร่วมพิธี แม้ว่าทางกรุงเทพมหานครจะจัดให้ประชาชนเข้าพักในวัดและโรงเรียนต่างๆ ได้

“เราเกิดในรัชกาลที่ 9 อยากส่งพระองค์สู่สวรรคาลัย ตามศาสนาอิสลามก็เหมือนกันกับศาสนาพุทธ พระองค์ท่านทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ จะมีกษัตริย์ที่ไหนสุดยอดขนาดนี้ มาอยู่กลางถนน เราไม่คิดว่าลำบาก เพราะเราเต็มใจมา อย่างน้อยได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า เราได้มา เพราะลูกหลานเราจะไม่ได้เจอตรงนี้แล้ว ที่ผ่านมาก็ละหมาดให้ท่าน” น.ส.มาลี

“ครั้งแรกที่ได้ยินว่า ในหลวงสวรรคต ตอนนั้นอยู่ในคลีนิกหมอ คนร้องไห้ทั้งคลีนิกเลย” น.ส.มาลีกล่าวเพิ่มเติม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ด้วยพระชนมายุ 89 พรรษา หลังจากทรงขึ้นครองราชย์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของพสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 70 ปี และวันที่ 1 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์

เจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมใหญ่พิธีวางดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ พระเมรุจำลอง จังหวัดยะลา วันที่ 24 ตุลาคม 2560 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

นายอับดุลเลาะ มะลี ชาวบ้านจาก อ.สะบ้าย้อย ที่จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ยังคงระลึกถึงพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรู้สึกเศร้าใจกับการสวรรคตของพระองค์ แต่ใช้การวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ เพื่อคลายความรู้สึกต่างๆ

“รู้สึกสลดใจ หดหู่ใจ พยายามวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ทุกวัน แม้ในใจจะรู้สึกว่าในหลวงไม่เคยเสด็จไปไหนไกล เพราะในหลวงอยู่ในใจของผมทุกวัน ผมจดจำใบหน้าของพระองค์ ได้อย่างแม่นยำ เมื่อเข้าใกล้วันที่ 26 ตุลาคมเข้ามา ใจก็ยิ่งรู้สึกสลดและเศร้าบอกไม่ถูก”  นายอับดุลเลาะกล่าว

นายอูเซ็ง สะมะแอ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เจ้าของฉายาปลาร้องไห้ ชาวอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเคยนำพระราชดำริแก้ปัญหาปลาตายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้ เผยว่า ยังคงร้องไห้ทุกครั้งที่มีคนพูดถึงในหลวง รัชกาลที่ 9

“ใครถามถึงในหลวงกี่ครั้งก็จะมีน้ำตาออกมาทันที เพราะคิดถึงพระองค์ วันนี้มีคนมาถาม 10 คน ก็มีน้ำตาไหลออกมาสิบครั้ง ไม่รู้ทำไม มันเป็นแบบนี้ แต่บอกได้คำเดียวคือ ตอนนี้คิดถึงพระองค์มาก ในหลวงอยู่ในใจพวกเราเสมอ” นายอูเซ็งกล่าว

ทหารควบคุมตัวเอกชัย หลังโพสต์ว่าจะใส่เสื้อแดง 26 ต.ค. นี้

ในขณะที่ในวันเดียวกันนี้ ทหารเข้าคุมตัวนายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมการเมือง หลังโพสต์ข้อความว่า ตนเองจะใส่เสื้อแดงในวันที่ 26 ตุลาคม นี้

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร 11 นาย ได้เข้าควบคุมตัว นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ในบ้านพักที่กรุงเทพฯ โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการที่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 นายเอกชัยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “26 นี้ผมจะสวมเสื้อแดงและจะทำในสิ่งที่ใครคาดไม่ถึง”

“เจ้าหน้าที่ทหารได้ระบุในลักษณะว่าให้เลือกระหว่างว่าจะไปเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรี หรือไปอยู่ในค่ายทหาร เอกชัยแจ้งว่า เลือกไปที่จังหวัดกาญจนบุรีกับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อความสบายใจในช่วงงานพระราชพิธีฯ โดยคาดว่าจะได้กลับในช่วงเช้าวันที่ 27 ตุลาคม” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความฯ กล่าว

“เอกชัยยังระบุว่าในการควบคุมตัวได้มีความพยายามฉุดกระชากให้ไปขึ้นรถ จนได้รับบาดแผลถลอก ก่อนที่เอกชัยจะขาดการติดต่อไป ไม่สามารถติดต่อได้อีก เพื่อนบ้านของเอกชัยบอกว่า ระหว่างเกิดเหตุ ได้สังเกตเห็นรถเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 5-6 คัน มาจอดหน้าบ้าน และมีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาด้วย แต่ไม่ทราบว่ามาจากหน่วยและสังกัดใดบ้าง” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความฯ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง