อนาคตใหม่โหวตค้าน พ.ร.ก. โอนย้ายกำลังพลฯ ไปหน่วยรักษาพระองค์
2019.10.17
กรุงเทพฯ

พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวที่ออกเสียงไม่รับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้บรรยายว่า มีนักการเมืองบางคนฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และต้องการจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ในวันพฤหัสบดีนี้ สภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มต้นการอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 3.2 ล้านล้านบาทแล้ว โดยการอภิปรายจะใช้ระยะเวลา 3 วัน
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่ ส่วนราชการในพระองค์ 7.685 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์จากปี 2562 ที่จัดสรรงบ 6.8 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณนั้น ใช้สำหรับการบริหาร กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวังลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งจะถูกโอนย้ายจากกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์
โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 374 คน ลงมติรับพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งในนั้นมีเสียงของฝ่ายค้านด้วย ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ 70 เสียง ลงมติไม่รับพระราชกำหนดดังกล่าว และมี 2 เสียงงดออกเสียง ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. 500 คน โดยในการลงมติวันนี้ มี ส.ส. 4 ที่นั่ง ที่ไม่ได้ร่วมลงมติเนื่องจากอยู่ระหว่างการรอเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ลงมติได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่โดยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส.
ปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 20 พรรค มี ส.ส. 250 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี ส.ส. 245 เสียง จาก 9 พรรค
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายว่า การที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้ตรา พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ให้มีผลเทียบเท่ากับ พ.ร.บ. นั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบต่อการทำงานสภาผู้แทนราษฎร
“พระราชกำหนดฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนของราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้” นายปิยบุตร กล่าว
สำหรับ มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้… ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ระหว่างการอภิปราย นายปิยบุตร กล่าวหา พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 ซึ่งได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นว่า พลเอกประยุทธ์ ได้กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายครั้งตลอดมา นับตั้งแต่การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบถ้วน กระทั่งการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ
อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร ระบุว่า เขาและพรรคยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยด้วย
“พรรคอนาคตใหม่และตัวผมเอง ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การอภิปรายของผมในวันนี้ เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนุญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุด นี่คือการปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” นายปิยบุตร กล่าว
ทั้งนี้ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงต่อสภาว่า การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยอันมีความสำคัญสูงสุดของประเทศ เนื่องจากหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มีหน้าทีวางแผนอำนวยการ การบังคับบัญชา การถวายอารักขา ปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธี รักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน และถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และราชอาคันตุกะ ดังนั้นสมควรโอนกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยในพระองค์
ความไม่มั่นคง
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อปี 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยมีผู้ก่อการคือ คณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มทหารและประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารถึง 13 ครั้ง และมีความพยายามแต่ไม่สำเร็จอีก 13 ครั้ง
ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยเข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมือง หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนในชนบท ถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยึดอำนาจครั้งนั้น ทำให้มีประชาชนที่สนับสนุนนายทักษิณออกมาต่อต้านการกระทำของฝ่ายทหารตลอดหลายปีที่ผ่านมา และต่อมา นางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของนายทักษิณ ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ แผ่นดินของเราในมุมมองฝ่ายความมั่นคง" โดยกล่าวหาว่า ปัจจุบัน มีนักการเมือง และนักวิชาการที่ต้องการจะล้มรัฐบาล และเปลี่ยนประเทศไปสู่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
ทั้งนี้ นายปิยบุตร ซึ่งจบดอกเตอร์ด้านกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส และเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า พระมหากษัตริย์ ทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง
“ในคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ… ยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” นายปิยบุตร กล่าว
ทั้งนี้ ข้อความที่นายปิยบุตรอ้าง สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ละตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จากความผิดกรณีการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค ซึ่งหลังจากที่พรรคประกาศเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ วันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ อยู่เหนือการเมือง
ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดแก่ผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 15 ปี