ไทยภักดียื่นสภา 1.3 แสนรายชื่อค้านแก้รัฐธรรมนูญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.23
กรุงเทพฯ
200923-TH-royalists-protest-1000.jpg กลุ่มไทยภักดี นำมวลชนเดินทางไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงความภักดีต่อสถาบันพระกษัตริย์ และยื่นรายชื่อประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยไม่ต้องการมีการแก้ไข ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 กันยายน 2563
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ กลุ่มไทยภักดี ได้นำมวลชนเดินทางไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อประชาชน 1.3 แสนคน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้พิจารณาไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาแก้ไขของรัฐสภา และมีประชาชนยื่น 1 แสนรายชื่อเสนอแก้ไขเมื่อวานนี้ ด้านกลุ่มประชาชนปลดแอกจัดกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์จับ ส.ว. ลงหม้อ เรียกร้องให้ ผู้นำเหล่าทัพยุติบทบาท ส.ว.

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำกลุ่มไทยภักดี เปิดเผยในการปราศรัยหน้าอาคารรัฐสภาในช่วงเช้า ระบุว่า การเดินทางมาจัดกิจกรรมยื่นรายชื่อวันนี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

“ผมยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ยังไม่เห็นประโยชน์ใด ๆ ของพี่น้องประชาชน สิ่งที่เรามองเห็นนั้นมีแต่ประโยชน์ของนักการเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้รับฉายาว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง นักการเมืองที่ทุจริตหนีไปต่างประเทศ ไม่มีคำว่าหมดอายุความ ดังนั้นเขาจึงมีความจำเป็นต้องการจะแก้ไข เขาต้องการจะแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง จากบัตรหนึ่งใบไปเป็นบัตรสองใบเนื่องจากว่าถ้าบัตรสองใบ สามารถใช้เงินซื้อ ส.ส. และสามารถรวบรวม ส.ส. เพื่อเกิดเผด็จการรัฐสภาได้อย่างเต็มที่ ในระบบบัตรใบเดียวโอกาสที่จะเกิดเผด็จการรัฐสภานั้นยากมาก” นายแพทย์วรงค์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.หฤทัย ม่วงบุญศรี หรืออุ๊ อดีตนักร้อง แกนนำกลุ่มไทยภักดี ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผ่านการออกเสียงประชามติ จึงมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะผ่านความเห็นชอบของประชาชน

“รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข ซึ่งจะมีผลกระทบกับการเมืองการปกครอง ส่งผลกับประเทศชาติของเรา ในส่วนนึงที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขนั้น พวกเขาเหล่านั้นเป็นนักการเมือง อ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 นี้ ซึ่งพวกเราคนไทยจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่เห็นชอบและทำการลงประชามติอย่างถูกต้องชอบธรรมถึง 16.8 ล้านเสียง” น.ส.หฤทัย กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มไทยภักดี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 4 ข้อประกอบด้วย 1. รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากประชามติของประชาชน 16.8 ล้านเสียง การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องถามประชาชน ด้วยการลงประชามติ 2. ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองต้องการแก้ไข เพราะเสียผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้คดีนักการเมืองไม่หมดอายุ รูปแบบการเลือกตั้งป้องกันทุนครอบงำ ส.ส. เผด็จการรัฐสภา และการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง 3. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมือง

และ 4. ปัญหา ส.ว.ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากการลงประชามติของประชาชน ทั้งยัง เป็นเพียงบทเฉพาะกาล เหลือเวลาอีก 3 ปี ก็จะหมดวาระ ซึ่งหลังจากนั้น ส.ว. จะมาจากการเลือกของประชาชน นักการเมืองยากที่จะแทรกแซง

ด้าน นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานประธานสภา ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือแทนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวหลังการรับรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะนำรายชื่อส่งถึงประธานรัฐสภา และผลักดันข้อเรียกร้องของประชาชนแน่นอน

“เสียงทุกเสียงของพี่น้องประชาชนมีคุณค่าอย่างยิ่ง และเป็นเสียงสะท้อนถึงความตั้งใจจริง ในการแก้ปัญหาของบ้านเมือง แล้วก็รัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เป็นลูกจ้างของพี่น้องประชาชนจริงๆ จะต้องฟังเสียงของพี่น้องประชาชน... รายชื่อของพี่น้องผมสัญญาจะนำไปมอบให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยมือผมเอง และจะช่วยผลักดันทุกอย่างตามสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการ” นายแทนคุณ กล่าว

ในวันเดียวกันช่วงบ่าย กลุ่มประชาชนปลดแอกได้จัดขบวนรถแห่ไปยัง กองบัญชาการกองทัพบก กระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ ส.ว. ซึ่งมาจากผู้นำเหล่าทัพยุติบทบาท โดยกิจกรรมนี้ใช้ชื่อว่า “จับส.ว.ลงหม้อ กระชากวิญญาณและพิธีกรรมจับผีร้าย ส.ว.” มีการทำภาพล้อเลียน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นวิญญาณลอยออกจากหม้อหมอผี โดยผู้ชุมนุมระบุว่า ผู้นำเหล่าทัพควรทำหน้าที่ในกองทัพไม่ใช่ในรัฐสภา

“ผบ.ทบ.จงกลับมาอยู่ที่ของตัวเองได้แล้ว เหตุใดถึงไม่รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง วิญญาณที่สิงสถิตในเก้าอี้ ส.ว.ที่มาโดยตำแหน่งจงกลับมา ณ กองทัพบกแห่งนี้ กลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ในรัฐสภาไม่ใช่หน้าที่ของท่าน และพรุ่งนี้ จะเป็นวันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเราพบ ผบ.ทบ. จะเข้าไปลากคอออกจากสภาฯ อยากฝากไปถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนใหม่ ที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อ ในขณะนี้ท่านยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นอย่ารับตำแหน่งส.ว.” ผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวขณะทำกิจกรรมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ผ่านมา ประชาชนโดยการนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เดินเท้าเข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 100,732 รายชื่อที่อาคารรัฐสภา โดยเรียกร้องให้บรรจุร่างแก้ไขดังกล่าวเข้าไป ในสมัยประชุมสัปดาห์นี้

วันที่ 23-24 กันยายน 2563 นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณา ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 271 เรื่องการปฏิรูปประเทศ 4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 279 เรื่องยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 6. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540

ด้าน กลุ่มประชาชนปลดแอกนัดชุมนุมที่หน้ารัฐสภาอีกครั้ง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 16.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ ส.ส. ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามการเรียกร้องของประชาชน

สำหรับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 16,820,402 เสียง ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง อย่างไรก็ตาม กระบวนการลงประชามติถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากก่อนการประชามติ มีประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ์จากการณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อย่างน้อย 113 ราย โดยเป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย

ปอท. ฝากขังแอดมินเพจ กูkult

ในวันเดียวกัน นายนรินทร์ กุลพงศธร อายุ 31 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าดูแลเฟซบุ๊กแฟนเพจ กูKult ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเสียดสีล้อเลียนการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังผัดแรก อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 1 แสนบาท

พนักงานสอบสวนระบุว่า นายนรินทร์เขียนข้อความ 4 โพสต์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 22.12 น.วันที่ 13 ส.ค. 2562 เวลา 14.53 น. และเวลา 13.30 น และวันที่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 13.10 น. ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบพยานไปแล้ว 4 ปาก และผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา นับตั้งแต่ถูกควบคุมตัวในวันที่ 21 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายนรินทร์ โดยไม่กำหนดเงื่อนไข

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง