ชาวสวนยางแดนใต้เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างอาชีพเสริม เพราะราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก

นาซือเราะ
2015.12.10
TH-rubber-620 นางสือนะ อาแด ชาวสวนยาง กำลังตรวจดูสวนยางในพื้นที่ จังหวัดยะลา วันที่ 2 พ.ย. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (10 ธ.ค. 2558) นี้ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ต่างพากันเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสร้างอาชีพการเกษตรอย่างอื่นเสริมให้กับชาวสวนยางพารา และหาตลาดขายผลิตภัณฑ์เกษตรให้ด้วย หลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก จนส่งผลให้ชาวสวนยางต้องไปหางานในประเทศเพื่อนบ้าน

ยางพาราได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคใต้ค่อนข้างมาก รายได้จากการส่งออกยางพาราแปรรูปทางภาคใต้ ในแต่ละปีมีมูลค่ากว่าหนึ่งแสนล้านบาท นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่ และก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคใต้เป็นจำนวนมาก และยางพารายังจัดเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ และมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าสินค้าประเภทอื่นด้วย

นายอาแว ยะยอ อายุ 58 ปี ชาวบ้านบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ราคารับซื้อยางแผ่นจากหน้าสวนยาง เหลือเพียงแค่ 4 กิโลกรัมต่อ 100 บาท ส่วนราคาขี้ยางอยู่ที่ 7-8 กิโลกรัมต่อราคา 100 บาท เท่านั้น

“ชาวสวนยางไม่เคยแย่ขนาดนี้ ตอนนี้ คนหนุ่มสาวที่มีแรงทำงานอยู่ ก็ต้องไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ทิ้งให้คนแก่ๆ อยู่บ้าน ไม่ไหวก็ต้องอยู่ เพราะที่นี่บ้านเรา” นายอาแว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นอกจากราคายางจะตกต่ำแล้ว เหตุความไม่สงบในภาคใต้ที่มีการทำร้ายเกษตรกรตามสวนยาง สวนผลไม้ ก็เป็นสาเหตุให้ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางในตอนรุ่งเช้าได้ ทำให้ได้ผลผลิตเพียงแค่ขี้ยาง ที่มีราคาต่ำมากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำยาง หรือ ยางแผ่น

“คนที่นี่เขาไม่สามารถกรีดยางเวลากลางคืนได้ เพราะกลัวสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แถมยังมีชายชุดดำในสวนยางคอยสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านอีก จึงต้องกรีดตอนเช้าแล้วทำเป็นขี้ยาง” นายอาแวกล่าว

“พวกเราอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยพวกเราด้วย ถ้าไม่สามารถทำให้ราคายางดีกว่านี้ ก็ช่วยหาตลาดการเกษตรที่จะสามารถขายของเกษตรที่ปลูกเสริมได้” นายอาแวกล่าวเพิ่มเติม

นายอิสมะแอ สาและ อายุ 39 ปี ชาวอัยจือนะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ถ้ามีตลาดที่จะสามารถมารองรับอาชีพเสริม เช่น ปลูกอ้อย มะพร้าวหอม ตะไคร้ หรือผักส่วนครัว  อยากให้รัฐหาตลาดที่จะสามารถขายของที่ปลูกได้  ไม่ใช่ให้เราทำอาชีพอื่นเพิ่มเสริม แต่ไม่มีตลาดขาย”

โครงการช่วยเหลือของทางรัฐบาลและค่าชดเชย

ในตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ทางกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมค่าชดเชยให้ชาวสวนยาง โดยเฉลี่ยไร่ละ 1,500 บาท โดยแบ่งเป็นค่าสนับสนุนวัสดุการเกษตร 700 บาทต่อไร่ งบการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการผลิต 200 บาทต่อไร่ และช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง 600 บาทต่อไร่ รวมจำนวน 1,500 บาท ต่อไร่ สำหรับพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิจำนวน 8.5 แสนราย คนกรีดยาง 3 แสนราย มีชาวสวนยางได้ลงทะเบียนขอรับค่าชดเชยแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

ในวันนี้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ถูกลง ส่งผลกระทบต่อราคายางธรรมชาติ ทางกระทรวงจึงได้มีโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในประเทศ

ทางด้านจังหวัดปัตตานี นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการและร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยกำหนดให้เกิดรูปธรรมตามวาระ สงขลาเกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ เกษตรผสมผสาน ตามจุดเน้นด้านการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรยากจน โดยเฉพาะชาวสวนยางขนาดเล็ก โดยมอบหมาย สกย. ดำเนินการสำรวจทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย แนะนำและส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนหรือแบ่งสวนยางมาทำเกษตรปศุสัตว์ และไร่นาสวนผสมส่วนรายละเอียดจะนำเสนอต่อไป

โครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรสวนยางรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ชาวสวนยางรายย่อย ที่มีเนื้อที่ปลูกไม่เกิน 5 ไร่ และได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับผู้ที่มียางเปิดกรีดได้แล้ว เป้าหมายจำนวน 400 รายโดยส่งเสริมอาชีพตามความถนัด และความเหมาะสม ได้แก่ การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง การปลูกพืชร่วมเป็นพืชแซมในสวนยาง เช่น พริกไทย หวาย ผักเหลียง หมากเหลือง กระวาน ดาหลา สละเนินวง สละสาริกา ดอกหน้าวัว ปักษาสวรรค์ ฯลฯ มอบให้ สกย. เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสนับสนุนปัจจัย และติดตามเป็นพี่เลี้ยงให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

“คำสั่งการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 ประชาชนในพื้นที่สามารถสอบถามหน่วยรับผิดชอบได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายทรงพล กล่าว

เกษตรกรในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พึ่ง พาอาชีพการเกษตรที่จำกัดในวงแคบได้แก่ การทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และการประมง เป็นหลัก โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ปี 2542 ประมาณ 158,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของประเทศ และมีสัดส่วนการผลิตในภาคเกษตรสูงถึงร้อยละ 41 ของ GPP สัดส่วนในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือร้อยละ 49 เป็นการผลิตในภา คบริการที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวและการค้าบริการ

การผลิตและราคายางก่อนจะมาถึงวันนี้

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวปักษ์ใต้ เนื่องจากยางพาราเป็นไม้ยืนต้น อายุยืน ประมาณ 20-25 ปี ทำให้ยางพาราเป็นพืชที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคใต้มาโดย ตลอด ไทยเคยมีการผลิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก ยางพาราประเภทยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา สามารถทำรายได้การส่งออกเป็นอันดับสองของประเทศ ยางพาราจึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และมีการส่งออกยางธรรมชาติมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในปี 2543 มีผลผลิตจากยางธรรมชาติประมาณ 2.4 ล้านตัน มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 124,000 ล้านบาท

เดิมพื้นที่ที่มีการปลูกยางส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ และ ภาคตะวันออก แต่ในปัจจุบันมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยเฉพาะยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดศรีสะเกษ จัดเป็นยางพาราคุณภาพดีไม่ต่างจากแหล่งผลิตเดิมในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกยางทั่วประเทศมีทั้งหมด 55.1 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกจริง มีประมาณ 12.4 ล้านไร่เท่านั้น

เนื่องจากประสิทธิภาพ การผลิตยางของเกษตรกรต่ำ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม เมื่อปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้คำนวณต้นทุนการผลิตยางของไทยอยู่ที่ 61.65 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ลดลง จนถึงขาดทุน และออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลัก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด คือกิโลกรัมละ 100 บาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง