ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรปัตตานี อนุมัติในหลักการสินเชื่อชาวสวนยาง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.16
TH-rubber-1000 เกษตรกรชาวสวนยางกำลังกรีดยาง และสะสมเก็บน้ำยางที่โรงเก็บน้ำยาง จังหวัดนราธิวาส ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553
เอเอฟพี

ในวันพุธ (16 ธ.ค. 2558) นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวได้มีการอนุมัติในหลักการสินเชื่อ เพื่อการเกษตรชาวสวนยางรายย่อยแล้วเป็นยอดเงิน 163 ล้านบาท ให้กับเกษตรกร 21,000 ราย ในจังหวัดปัตตานี ส่วนเงินช่วยเหลือตามโครงการชดเชยรายได้เกษตรกรนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กำลังตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อขอรับสิทธิ์ชดเชย

โดยในวันพุธนี้ นายวีรนันทน์ ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพเสริม ระดับจังหวัด ครั้งที่ 5/2558 ติดตามผลการดำเนินงานโครงการชดเชยรายได้เกษตรกร  และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี

สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพเสริม คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพิ่มเติมตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นี้

“ในส่วนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพเสริม วันนี้ ธ.ก.ส.ได้อนุมัติในหลักการให้กับสมาชิกเกษตรกรจังหวัดปัตตานี แล้ว 21,000 ราย เป็นเงิน 163 ล้านบาท” นายวีรนันทน์ กล่าว

ในส่วนของโครงการชดเชยรายได้นั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ เมื่อวันอังคารที่ 15 นี้ โดยจะจ่ายให้กับเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าที่ดินทำสวนยาง และคนงานตัดยางพารา

“การขอเข้าร่วมโครงการนั้น จะมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม ปีนี้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปีหน้า” พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวันอังคารที่ผ่านมา

ในระหว่างที่มีรอ ครม. อนุมัติโครงการ ได้มีการลงทะเบียนเกษตรกรไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยในปัตตานีมีประมาณสองหมื่นกว่าราย

ในเรื่องนี้ รองผู้ว่าราชการปัตตานี กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี ได้มีการบันทึกจำนวนเกษตรกรของจังหวัดปัตตานี ทั้ง 12 อำเภอ ที่เข้าร่วมโครงการชดเชยรายได้แล้วประมาณ 24,000 ราย มีเนื้อที่ 206,000 กว่าไร่ พร้อมได้ส่งข้อมูลการลงทะเบียนให้กรมส่งเสริมการเกษตร ทำการตรวจสอบข้อมูล และส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง

นอกจากพื้นที่ที่เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินชัดเจนแล้ว รองผู้ว่าราชการปัตตานี ยังกล่าวว่าทางราชการอาจพิจารณา ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ที่มีที่ทำกินเป็นที่ดินที่มีการจ่ายภาษีบำรุงท้องที่และอยู่นอกเขตป่าไม้อีกด้วย

“ตอนนี้ ทางจังหวัดได้คุยถึงการที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบพื้นที่ ซึ่งมีหลักฐานเป็น ภบท.5  ภบท.6  และ ภบท.11 ที่มีแปลงยางอยู่นอกเขตพื้นที่ป่าไม้ที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากที่กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ เข้าตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกษตรกรรายย่อยต้องเสียสิทธิการชดเชยรายได้ จำนวน 3,721 ราย จากการที่รัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือด้วย” นายวีรนันทน์ กล่าว

นายอับดุลรอแม อับดุลรอห์มาน อายุ 54 ปี ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการอะไรก็ได้ ที่สามารถช่วยเหลือชาวสวนยาง ตัวเขาต้องการหมด อย่างโครงการสินเชื่อก็เป็นโครงการที่ดี สามารถช่วยให้เกษตรกรมีทุนในการนำไปประกอบอาชีพเสริมได้

“การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ก็รู้สึกว่าช้ามาก แต่ก็ดีกว่าที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย” นายอับดุลรอแม กล่าวถึง การดำเนินการโครงการชดเชยรายได้เกษตรกร

“อย่างไรก็อยากให้มีการพิจารณาคนที่มีสวนยาง ภบท.5  ภบท.6 และ ภบท.11 ด้วย เพราะในสามจังหวัด ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ เพียงแค่คิดว่า เราสามารถกรีดยางได้ก็ถือว่าพอแล้ว แต่ทุกวันนี้ไม่จบแค่นั้น” นายอับดุลรอแม กล่าว ถึงเรื่องการถือครองที่ดินทำกินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ครบถ้วน

นางแมะซง สะมะแอ  อายุ 60 ปี ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าวว่า “อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางโดยด่วนที่สุดเพราะตอนนี้บางวันแทบไม่มีเงินเลย บางวันกินข้าวต้มแล้ว ตั้งใจจะนำเงินจากการที่รัฐช่วยเหลือ ไปลงทุนเพื่อทำอาชีพเสริมเพื่อที่จะสามารถให้ครอบครัวอยู่ต่อไปได้โดยไม่ลำบากเช่นนี้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง