ราคายางพาราปรับตัว ชาวสวนพอใจ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.12.26
ยะลา
TH-rubber-1000 ลูกจ้างพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเศษยางจากชาวบ้านในพื้นที่ จ.ยะลา วันที่ 21 ธันวาคม 2559
(เบนาร์นิวส์)

ปัจจุบัน ราคายางพาราในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับชาวสวนยาง สาเหตุที่ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นผลมาจากในพื้นที่ภาคใต้ มีหลายจังหวัดฝนตกหนักและน้ำท่วม ทำให้ยางพาราขาดตลาด เชื่อราคาจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนมกราคม 2560

นายนิพจน์ คงจังหวัด หัวหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การนำยางพาราเข้าสู่ตลาดกลางยางพาราเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคายางสูงขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการยางพาราที่มากขึ้นก็ส่งผลต่อราคาเช่นกัน

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายางช่วงนี้ขยับขึ้น เนื่องจากช่วงนี้มีสภาพฝนตกหนัก ทำให้มีการกรีดยางน้อยลง ปริมาณยางออกสู่ตลาดจึงลดลงไปด้วย ในขณะที่ความต้องการสินค้าของพ่อค้าที่สั่งมาจากต่างประเทศ มีปริมาณมาก ทำให้ความต้องการของตลาดสูงส่งผลให้ราคายางดีขึ้น” นายนิพจน์

“การนำยางพารามาเข้าร่วมที่ตลาดกลางยางพารา ทำให้ตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลามีจำนวนยางเข้ามาเป็นจำนวนมาก สามารถต่อรองกับพ่อค้าได้เป็นอย่างดี มีผลทำให้ราคายางตลาดกลางยางพาราขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าราคายางพาราจะขยับต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนมกราคมปีหน้า” หัวหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลาเพิ่มเติม

ราคากลางวันนี้ ยางพาราแผ่นดิบคือ 67-71 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายในตลาดท้องถิ่นคือ 60-63 บาทต่อกิโลกรัม และราคากลางเศษยางพาราคือ 57-61 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายในตลาดท้องถิ่นคือ 28-31 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านนายศิวะ ศรีชาย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเปิดเผยข้อมูลว่า ราคายางพาราในตลาดท้องถิ่นจะต่ำกว่าราคากลางทั่วประเทศ เนื่องจากตลาดท้องถิ่นจะคำนวณราคาตามค่าแรงงาน ค่าขนส่ง และกำไรพ่อค้ารายย่อยซึ่งเป็นผู้รับซื้อยาง ซึ่งผู้ค้ารายย่อยระดับตำบลจะเป็นผู้รับความเสี่ยงสูงสุดที่จะขาดทุน โดยราคาในตลาดกลางยางพารามักจะอ้างอิงกับราคาสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ และตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้า

“ราคายางที่บิดเบือนจนผิดเพี้ยนไปและกลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม มักจะเกิดจากตลาดการซื้อขายล่วงหน้า ที่พ่อค้ายางจากเมืองไทยไปแย่งกันขายตัดราคากันเอง โดยการชิงเสนอราคาที่ต่ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการขาย และกำไรแล้วก็มาซื้อกดราคาต่ำในประเทศ” นายศิวะกล่าว

นายศิวะเพิ่มเติมว่า ราคายางที่สูงขึ้นแบบอย่างรวดเร็วจนผิดปกติในช่วงนี้ เกิดจากปริมาณยางพาราในท้องตลาดมีน้อย แต่ความต้องการใช้ยางพารายังมีอยู่เท่าเดิม หรืออาจเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ และเกิดจากความจำเป็นที่บริษัทส่งออกต้องส่งมอบยางพาราตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้ตกลงเอาไว้แล้ว

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราเป็นเงิน 1500 บาท โดยได้ดำเนินการจ่ายไปแล้วบางส่วน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินโครงการยางพาราแลกปุ๋ย สนับสนุนเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อ พักการชำระหนี้ สำหรับเกษตรกรเจ้าของสวนยางพารา และได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการแปรรูปสินค้ายางพารา

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การที่รัฐเปิดประมูลยางในสต็อก แผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่งเอสทีอาร์ 20 และยางอื่นๆ ที่รับซื้อจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ประมาณ 3.1 แสนตัน และดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรฯ และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับราคายาง

“การประมูลยางในรูปแบบจัดประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหาผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด โดยไม่มีการดั๊มราคาอย่างแน่นอน และจะทยอยระบายขายยาง โดยคำนึงถึงกลไกตลาดเป็นหลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของประเทศ การตัดสินใจระบายครั้งนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อไม่ให้สต็อกยางเหล่านี้เป็นตัวถ่วงในการปรับราคายางในอนาคตอีกต่อไป” ดร.ธีธัชกล่าว

ด้านนายมะแซ กาเล็ง พ่อค้ารับซื้อยางในพื้นที่ จ.นราธิวาสเปิดเผยว่า ชาวสวนยางในเขตพื้นที่ชายแดนภาคใต้รู้สึกพึงพอใจมากขึ้น หลังจากที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงหลายเดือนก่อนหน้า

“.. ที่ซื้อวันนี้ เพราะในพื้นที่มีฝนตกชาวสวนยางกรีดยางได้น้อยลง ขณะที่ตลาดมีความต้องการจำนวนมากทำให้ยางมีราคาดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ชาวสวนยางมีรายได้ดีขึ้น” นายมะแซกล่าว

ขณะที่นายอุสมาน อาบู ชาวสวนยางจาก จ.ยะลากล่าวว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ชาวสวนยางมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

“ในพื้นที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่กล้าไปกรีดยางตอนดึก ทำให้ต้องกรีดทำเป็นเศษยาง ตอนนี้ราคายางดีขึ้นก็รู้สึกหายใจสะดวกหน่อย มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเพราะตอนที่ราคาเศษยาง 12 บาท รายได้หายไปเยอะ ขณะที่รายจ่ายในครอบครัวต้องมีทุกวัน ทำให้ต้องไปทำงานก่อสร้างเพิ่มโดยไม่ได้พักผ่อนเลย ตอนนี้ราคายางดีขึ้นก่อนที่จะไปทำงานก่อสร้างก็สามารถนอนเอาแรงก่อน และลดเวลาทำงานก่อสร้างน้อยลง เราก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทุกคนในครอบครัวก็มีความสุข” นายอุสมานกล่าว

"ลูกได้ไปโรงเรียนทุกวันกลับมาจากโรงเรียนก็มีกับข้าวกิน และสามารถกินไอศรีมได้เหมือนเด็กคนอื่นๆทั่วไป เพราะช่วงที่ยางราคา 12 บาท ลูกไปโรงเรียนบ้างไม่ไปบ้าง มีกับข้าวกิน ที่ไม่ใช่มาม่าต้ม 1 ห่อกินกัน 6 คนทั้งครอบครัว" นายอุสมานอธิบายสภาพความเป็นอยู่หลังจากที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง