ศธ.ให้นักเรียนมุสลิมในรร.วัด แต่งกายตามข้อตกลงวัดและโรงเรียน

มารียัม อัฮหมัด
2018.06.14
ปัตตานี
180614-TH-muslim-education-1000.jpg ผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ละหมาด ในขณะเข้าพบ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน สำนักจุฬาราชมนตรี กรณีการแต่งกายของบุตรหลาน ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี วันที่ 18 พ.ค. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศการแก้ระเบียบกระทรวง ว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบนักเรียน โดยให้นักเรียนมุสลิมที่เรียนในสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัด ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามข้อตกลง ระหว่างวัดกับสถานศึกษา หลังจากเกิดการประท้วงของเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี (มหานิกาย) และผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ โดยภาคประชาสังคม เกรงว่าจะสร้างความบาดหมางระหว่างชาวพุทธและมุสลิมมากขึ้น

โรงเรียนอนุบาลปัตตานี (โรงเรียนวัดนพวงศาราม) ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บนพื้นที่ของวัด ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 1,838 คน และร้อยละ 40 เป็นนักเรียนไทยมุสลิม เมื่อเดือนพฤษภาคม ได้มีนักเรียนมุสลิมหญิงส่วนหนึ่งคลุมฮิญาบ จนทำให้ผู้ปกครองนักเรียนชาวพุทธ รู้สึกว่าเป็นการไม่เคารพระเบียบการแต่งกายของโรงเรียน ซึ่งพระสิริจริยาลังการ เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี (มหานิกาย) อธิบายว่า เจ้าอาวาสรูปก่อนมีเจตนารมณ์ ให้นักเรียนทุกคนแต่งกายให้เหมือนกัน เพื่อไม่ให้มีความแปลกแยก

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายด้วยกางเกงขายาวและคลุมฮิญาบได้ จนถูกประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 23 พฤษภาคม กระทรวงฯ จึงเปลี่ยนระเบียบอีกครั้ง โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นี้

นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นี้ มีความตอนหนึ่งระบุว่า “นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามวรรคหนึ่งหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียน ให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา”

ผู้ปกครองนักเรียน ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเองมีความคิดที่จะย้ายสถานที่ศึกษาของลูก เพราะระเบียบใหม่

"จะต้องหารือกับผู้ปกครองคนอื่นอีกที และอาจจะร่วมกันลาออก แต่ก็จะต้องมานั่งคุยกันกับหลายๆ ฝ่ายด้วย" ผู้ปกครองคนเดียวกัน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

การประกาศระเบียบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ สร้างความกังวลใจต่อภาคประชาสังคม ที่ได้รณรงค์ถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมพหุวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประกอบด้วยชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน

“เรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆ นี้ อาจถูกนำไปขยายความต่อว่าเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิทางศาสนาของคนกลุ่มน้อยในประเทศ และยิ่งจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นไปอีก เราได้ยินถึงความกังวลของพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งเกรงว่าความรุนแรงอาจจะเพิ่มมากขึ้นอีก” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

"การที่กระทรวงศึกษาธิการแก้ระเบียบการแต่งกายนักเรียนนั้น เป็นข้อยุติตามกฎหมาย แต่ไม่ยุติในด้านความรู้สึกทางใจ ความมีอคติต่อกัน และจะนำไปสู่ความไม่รักใคร่ ไม่สามัคคี ไม่กลมเกลียวของคนในชาติ นี่หรือผลผลิตการศึกษาของรัฐบาลยุคนี้ นี่หรือประชาธิปไตยตามวิถีไทย ไม่เคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อย ที่เขารักและหวงแหนที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ดีๆ ของศาสนา" นายอารีเพ็ญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ส่วนนายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ตนเองยังมีความห่วงใยถึงการประกาศระเบียบใหม่ว่าจะมีผลครอบคลุมต่อโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่วัด โรงอื่นๆ นอกเหนือจากโรงเรียนอนุบาลปัตตานีด้วยหรือไม่ ส่วนโรงเรียนวัดที่อนุญาตให้เด็กนักเรียนคลุมฮิญาบได้นั้นจะดำเนินการอย่างไร

"โรงเรียนที่ให้เด็กคลุมฮิญาบได้อยู่แล้ว ก็ควรปล่อยไป ส่วนการออกระเบียบในระดับโรงเรียน ผู้บริหารน่าจะสามารถใช้วิจารณญาณเพื่อความเหมาะสมได้" นายรักชาติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่พอใจของชาวพุทธบางส่วนที่เห็นว่าชาวมุสลิมได้เรียกร้องในเรื่องๆ ต่างๆ มากจนเกินไปนั้น ตนเองเห็นว่าควรทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกันแล้วลงนามในข้อปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร

"ยกตัวอย่าง หากมีการเรียกร้องเรื่องอาหารฮาลาลในโรงเรียน ก็ให้แยกครัวไปทำอีกส่วน แต่ไม่ควรบังคับให้ส่วนครัวนักเรียนชาวพุทธต้องปรุงอาหารแบบฮาลาลด้วย... เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ขอว่าอย่าได้มีฝ่ายก่อเหตุรุนแรงระบายความโกรธกับพระภิกษุ" นายรักชาติ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง