มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ร่วมประชุมไตรภาคี ก่อนประชุมใหญ่ แก้ปัญหาวิกฤตผู้อพยพทางเรือ

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.18
TH-sea-migrants-620 ผู้อพยพจากเมียนมา อุ้มเด็กไปเพื่อรับการรักษาพยาบาล ในกรุงกัวลาลังสา ที่ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 18 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จะร่วมประชุมหารือ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันพุธที่จะถึงนี้ เกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพทางเรือ มุ่งลงใต้ จากประเทศเมียนมา และบังกลาเทศ นับหลายพันคนและกำลังเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว

การประชุมย่อยระดับไตรภาคี โดยพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางเยือนมาเลเซีย ในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2558 ตามคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เพื่อพบหารือกับ นายอานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน และในเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่เมืองปุตราจายา โดยจะมีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้อพยพโรฮีนจา ซึ่งไทยเห็นว่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเน้นหลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศ

ก่อนการประชุมหารือระดับภูมิภาค โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติใน มหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ

"มาเลเซียจะพยายามหาทางออกในวิกฤตปัญหานี้ ...โดยการประสานความร่วมมือ ในหมู่ประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง" กระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวแถลง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน

เมื่อวันอาทิตย์ นายอานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเลเซีย และนายอาบุล ฮัซซาน มามูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บังกลาเทศ ได้มีการพบปะหารือถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในระดับทวิภาคี ที่รัฐซาบาห์ ทางตะวันออกมาเลเซีย

"ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ตระหนักถึงความสำคัญในการประสานดำเนินการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันในระดับภูมิภาค ต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น" สำนักข่าวเบอร์นามา มาเลเซีย รายงานจากการประชุมภาคีร่วม

การจับกุมผู้ต้องหาตัวสำคัญ

นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม มีผู้อพยพชาวบังกลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮีนจา เกือบ 2,500 จากประเทศเมียนมาได้รับความช่วยเหลือให้ขึ้นฝั่ง ที่ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ท่ามกลางการจับกุมและปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์ในประเทศไทย

ในวันจันทร์ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการแถลงข่าวที่กองบินตำรวจ ในวันจันทร์ กล่าวว่า  เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง อดีตนายก อบจ สตูล ผู้ต้องหาคนสำคัญ ในขบวนการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจา ได้เดินทางขอเข้ามอบตัว ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

จากนั้นจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับ ในข้อหาร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปค้ามนุษย์ ร่วมกันช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และร่วมกันเรียกค่าไถ่ผู้อื่น พร้อมคัดค้านการประกันตัว “เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการประกันตัว เช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่น ๆ ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับนายปัจจุบัน และที่ผ่านมา ไม่เคยยื่นเงื่อนไขต่อรองกับนายปัจจุบัน และมั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอในการดำเนินคดีในชั้นศาล”

ล่าสุด มีรายงานจากจังหวัดระนองว่า นางทัศนีย์ ภรรยาของโกโต้ง ได้ถูกจับกุมตัวได้ที่บ้านเลขที่ 42/1 หมู่ที่ 3 ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์ ซึ่งเปิดเป็นลานรับซื้อปาล์มน้ำมัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมไปสถานีตำรวจระนอง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทางกองทัพเรือได้แก้ไขปัญหาที่เน้นหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนสถานที่ที่จะเปิด เพื่อดูแลชาวโรฮีนจานั้น ก็ไม่ใช่พื้นที่กักกัน หรือควบคุม แต่อย่างใด หากแต่เป็น"พื้นที่พักคอย"เพื่อดูแลด้านสิทธิและมนุษยธรรม

"ผมยืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างตามหลักสากล เพราะชาวโรฮีนจาพวกเขาก็เป็นมนุษย์" รมว.กลาโหม กล่าว

‘พวกเขาเป็นคนเหมือนกัน’

ผู้อพยพทางเรือชาวบังกลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮีนจา จำนวนมาก ถูกกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ปล่อยให้ลอยลำคว้างบนเรือกลางทะเลที่อันตราย ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังผลักดันเรือออก และไม่รับพวกเขาขึ้นฝั่ง เพียงแต่ให้การช่วยเหลือ ในการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม และเติมน้ำมันเรือให้เท่านั้น

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ประเทศมาเลเซีย – จุดหมายปลายทางของชาวโรฮีนจา - เรียกร้องให้ประเทศเมียนมามีส่วนร่วมในการประชุมหารือระดับภูมิภาคถึงการแก้ไขวิกฤตนี้

เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาได้ปฏิเสธอย่างเปิดเผย ว่าการอพยพของชาวโรฮีนจา ที่มุ่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่ได้มาจากประเทศเมียนมา ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาจึงอาจไม่ส่งคณะผู้แทน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือ ที่กรุงเทพฯ

"ถ้าจำเป็นเราจะเรียกการประชุมฉุกเฉิน [อาเซียน]" สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นายอานิฟาห์ อามาน กล่าวในระหว่างการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ

ประเทศมาเลเซียในฐานะประธานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งมีสมาชิกรวมทั้ง ไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา

"ในฐานะประธานอาเซียน มาเลเซียจะหารือเกี่ยวกับปัญหาในเชิงลึก และหวังว่า เมียนมาจะเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะมีการถกปัญหาในระดับนานาชาติ" เขากล่าวเสริม

ในวันจันทร์ ผู้นำฝ่ายค้านของเมียนมา นาง ออง ซาน ซู จี ให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยโฆษกของฝ่ายค้าน เนียน วิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงย่างกุ้งว่า คนมุสลิมที่หลบหนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงในประเทศเมียนมา ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน

"แม้พวกเขาจะไม่ได้รับการยอมรับ [ในฐานะประชาชนของประเทศ] แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกส่งลงแม่น้ำ ไม่ควรถูกผลักดันกลับไปในทะเล" เอเอฟพีกล่าวอิง จากการสัมภาษณ์ "พวกเขาเป็นมนุษย์ พวกเขาย่อมมีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน"

'เราไม่ควรจะเป็นคนหน้าซื่อใจคด'

เมื่อวันอาทิตย์ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) องค์การระหว่างประเทศของชาตอิสลามที่ใหญ่ที่สุด กล่าวว่า ได้มีการติดตามสังเกตุการณ์ ถึงสถานการณ์ในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา

อียัด อามิน มาดานี เลขาธิการ องค์การความร่วมมืออิสลาม ได้มีการติดต่อกับประเทศในภูมิภาค เพื่อหารือเกี่ยวกับ "ความเป็นไปได้ที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมานของพวกที่กำลังลอยคว้างในทะเล" การแถลงขององค์การ

"เลขาธิการ ได้เรียกร้องความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขจากต้นตอของปัญหาโศกนาฎกรรมของมนุษยชาติ ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้สถ​​านการณ์ยืดเยื้อออกไป" องค์การความร่วมมืออิสลาม กล่าว

ที่กรุงจาการ์ตา มาฟุดซ์ ซิดดิค (Mahfudz Siddiq) นักบัญญัติกฎหมาย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยทันที

"รัฐบาลต้องทำเพื่อมนุษยชาติ เรามักจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่น ที่ไม่พยายามให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์  

"แต่ตอนนี้เรากำลังทำอย่างเดียวกัน เราไม่ควรเป็นคนหน้าซื่อใจคด และเราควรจะให้ความช่วยเหลือให้ผู้ที่กำลังเดือดร้อน" เขากล่าวเสริม

ในประเทศมาเลเซีย มูฮัมมัด อาชรี ไซนัล อบิดิน (Mohd Asri Zainul Abidin) ผู้นำทางศาสนาอิสลามของรัฐปะลิส วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนชาวมุสลิมมาเลย์ ว่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลือมากพอแก่ผู้อพยพบนเรือชาวมุสลิม

"เรายังคงค้นหาซากของผู้ที่คงจะเสียชีวิตหมดแล้ว จากเครื่องบินตกในทะเล ในขณะที่ เราปล่อยให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตายอยู่ในทะเล ความเป็นมนุษย์ของเราอยู่ที่ไหนกันเล่า?!" มาเลย์เมลออนไลน์ อ้างอิงคำกล่าวของ ผู้นำทางศาสนาอิสลาม ถึงเหตุการณ์การหายสาปสูญของ เครื่องบินมาเลเซียนแอร์ไลน์เที่ยวบิน 370 เมื่อเดือนมีนาคม 2557

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง