ศาลฎีกาพิพากษายืน ประหารชีวิต 2 จำเลยพม่า คดีเกาะเต่า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.29
กรุงเทพฯ
190829-TH-sentence-murder-800.jpg นายเว พิว (ซ้าย) และนายซอ ลิน จำเลยในคดีฆ่าและข่มขืนนักท่องเที่ยวอังกฤษ บนเกาะเต่า สุราษฎร์ธานี เดินทางไปฟังคำพิพากษาชั้นฎีกา ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี วันที่ 29 สิงหาคม 2562
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต นายซอ ลิน และนายเว พิว จำเลยในคดีฆ่า-ข่มขืน นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คน ที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 โดยเป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ด้านทนายความจำเลย ระบุว่า ทนายความเตรียมที่จะยื่นถวายฎีกาฯ ขอลดโทษประหารชีวิต

นายซอ ลิน และนายเว พิว จำเลยที่ 1-2 ชาวเมียนมา ถูกนำตัวจากเรือนจำกลางบางขวาง มายังศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในคดีซึ่งทั้งคู่ตกเป็นจำเลยในข้อหาข่มขืนและฆ่า น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ อายุ 23 ปี และฆ่านายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ อายุ 24 ปี สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ เหตุเกิดที่บริเวณหาดทรายรี บนเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2557

“คดีนี้ มีพยานหลักฐาน รวมทั้งผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ตรงกับจำเลย… มีการตรวจเก็บดีเอ็นเอทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่อาจจะเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน… และพิจารณาดูประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ทีละประเด็น โดยตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปทีละคน ทีละประเด็น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจำเลย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

“ตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มจำเลย ตรงกับการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เพราะในการสอบสวนต้องใช้เวลา, บุคลากรจำนวนมาก รวมทั้งงบประมาณ หากจะสร้างพยานหลักฐานคงไม่ต้องให้สิ้นเปลืองทั้งบุคลากรและงบประมาณ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว” คำพิพากษาระบุ หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้งคู่ถูกนำตัวมาขึ้นรถ และนำไปส่งที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี โดยทั้งคู่มีสีหน้าเคร่งเครียด

ด้าน นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าคณะทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า จำเลยยังคงยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด และจะทูลเกล้าถวายฎีกาฯ เพื่อขอให้ไม่ประหารชีวิตคนทั้งคู่

“พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิต มีรายละเอียดของการวินิจฉัยพยานหลักฐานมากขึ้น… จำเลยเขาบอกว่า ไม่ได้ทำเรื่องนี้เลย แต่ต้องมารับทุกข์แบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ… เราก็จะทูลเกล้าถวายฎีกาฯ ขออย่าให้ประหารชีวิต” ทนายความนายนคร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ขั้นตอนต่อไปนั้น คณะทนายความฝ่ายจำเลย จะได้ยื่นถวายฎีกาฯ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 60 วัน หากสำนักพระราชวังรับคำร้องถวายฎีกาฯ ระหว่างนี้ จำเลยทั้งคู่จะยังไม่ถูกประหารชีวิต จนกว่าจะมีการพิจารณาว่า ให้อภัยโทษหรือลดโทษหรือไม่

ด้าน น.ส.เอมาโซ ล่ามภาษาพม่าของจำเลยทั้งสองคน ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามให้ทั้งคู่ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จำเลยทั้งคู่มีอาการเครียด และกังวล หลังทราบคำพิพากษาประหารชีวิต

“ทั้งสองคน ยืนยันว่าตนไม่ได้ทำ เขาเสียใจ เขาไม่ได้ทำ แต่เขาก็ต้องรับโทษ นี่คือคำที่เขาพูดกับศาลเมื่อศาลอนุญาตให้กล่าวอะไรก็ได้หลังฟังคำพิพากษา เขาถามเราว่า จะประหารเมื่อไหร่ นี่เป็นสิ่งที่เขากังวล” น.ส.เอมาโซ กล่าว

ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี ทางคณะทนายของจำเลยทั้งสอง ได้แย้งว่า กระบวนการเก็บดีเอ็นเอของจำเลยเป็นที่คลางแคลงใจ และจำเลยยังบอกว่าโดนซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ศาลไม่เชื่อเพราะปราศจากหลักฐาน

“มันมีหลายครั้งที่การทรมานไม่มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ในเนื้อตัวร่างกาย เช่น การบังคับในห้องเย็น ถ้าเกิดบอกว่า จำเลยไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีหลักฐานเหมือนกันว่า ไม่ได้ซ้อมเขา” นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน หนึ่งในทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

 

 

ในวันที่ 15 กันยายน 2557 มีผู้พบศพนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ และ น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกของแข็งทุบตี และผู้เสียชีวิตเพศหญิง มีร่องรอยการถูกข่มขืน ร่างของทั้งคู่ถูกพบที่หาดทรายรี ม.1 ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี และในเวลา 2 สัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิดควบคุมตัวนายซอ ลิน และนายเว พิว ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาที่เคยทำงานอยู่บนเกาะเต่า

ในวันนี้ 24 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดเกาะสมุยได้อ่านคำพิพากษาว่า นายซอ ลิน จำเลยที่ 1 และนายเว พิว จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (7), 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 (1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายที่ 1 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายที่ 2 เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง โดยทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นขออุทธรณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559

ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตทั้งคู่ เนื่องจากพยานหลักฐานที่จำเลยใช้อุทธรณ์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ คณะทนายความจึงขอฎีกาเพื่อต่อสู้คดีอีกครั้ง กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ในวันนี้ว่า ให้ประหารทั้งคู่

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ร่วมรายงานข่าวเรื่องนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง